ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ - 1ต.ค.ดีเดย์ปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายใต้หลักการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น

โครงสร้างใหม่ตามแนวคิดของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์รมว.สาธารณสุข แบ่งการบริหารออกเป็น 12 เขตสุขภาพ (Service Provider) ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ นนทบุรีราชบุรี ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมาอุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยแต่ละเขตควบรวมพื้นที่ 6-7 จังหวัด

ผู้ตรวจราชการกระทรวงมีสถานะเป็น "ซีอีโอ"เขต ทำหน้าที่กระจายงบประมาณไปยังสถานบริการจัดบริการร่วมกันในแต่ละโรงพยาบาล จ้างบุคลากรและจัดซื้อจัดจ้าง

สำหรับนโยบาย เดิมทีส่วนกลางเป็นผู้กำหนด แต่โครงสร้างใหม่นี้มอบอำนาจให้แต่ละพื้นที่ดำเนินการตามความเหมาะสม

"ผมยังไม่ได้ศึกษาบทบาทของเขตสุขภาพว่าทำหน้าที่ในเชิงสั่งการหรือประสาน แต่หากให้เขตสุขภาพเป็นผู้สั่งการจะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง"นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กุนซือยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และผู้ทำคลอดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ระบุอย่างชัดคำ

นพ.สุรพงษ์ อธิบายว่า บริบทในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่ควรให้แต่ละเขตสุขภาพเป็นผู้กำหนดนโยบาย หลักการที่ถูกต้องคือให้แต่ละโรงพยาบาลเป็นผู้บริหารหรือตัดสินใจเอง นอกจากกรณีสำคัญก็อาจมีการตั้งคณะกรรมการร่วมของโรงพยาบาลในพื้นที่ขึ้นมา แต่ก็เป็นไปเพื่อประสานและหารือไม่มีโรงพยาบาลใดสั่งโรงพยาบาลใดได้

ที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นคณะกรรมการหรือเครือข่ายที่ สธ.เป็นผู้กำหนด ไม่ต้องมีถึง 5-7 จังหวัดขนาดของเครือข่ายอาจเป็นจังหวัดเดียวก็ได้ มันใหญ่มากพอแล้วเปรียบเทียบกับเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่มีหลายโรงพยาบาลย่อยๆ ทุกโรงพยาบาลย่อยก็มีซีอีโอเป็นของตัวเอง เขาก็บริหารกันไปเอง ตัดสินใจเอง ซีอีโอใหญ่จะไม่เข้ามายุ่ง นอกจากจะมีปัญหาหรือการตัดสินใจครั้งใหญ่เท่านั้น ที่เครือข่ายจะมาหารือร่วมกัน

"จากนี้ต้องดูบทบาทของผู้ตรวจราชการในฐานะซีอีโอว่าทำงานเพื่อตอบสนองใครซึ่งหลักการแล้วต้องตอบสนองท้องถิ่นไม่ใช่ตอบสนอง สธ. คำถามคือผู้ตรวจราชการที่ได้รับการแต่งตั้งมีความสามารถพอจริงหรือ และหากเกิดปัญหาขึ้นใครมีอำนาจเปลี่ยนตัวผู้ตรวจราชการได้"

"อาจมีคนมองในแง่ร้ายว่าเขตสุขภาพเป็นการรวบอำนาจของ สธ. แต่ผมไม่อยากมองขนาดนั้นแต่ตั้งคำถามต่อว่า อย่างเช่น เรื่องการกระจายบุคลากร เรื่องงบประมาณรายหัวซึ่งเดิมทีทุกโรงพยาบาลไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็จะได้ไปหากเขตสุขภาพบอกว่าเอาเงินรายหัวมารวมกันแล้วบอกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กเอาไปเท่านี้ก่อน มันจะผิดหลักการงบประมาณรายหัว เงินที่หน่วยบริการจะนำมาใช้เพื่อประโยชน์กับคนในพื้นที่จากนี้อาจจะใช้ได้ไม่เต็มที่ แต่ก็อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้"

อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีโรงพยาบาลของรัฐที่ขึ้นตรงกับ สธ.บทบาทที่ สธ.ควรทำจึงเป็นเรื่องการวางมาตรฐานการตรวจสอบ การป้องกันโรคไม่ติดต่อ การพัฒนาระบบส่งต่อ และการจัดทำนโยบายระดับชาติ ส่วนโรงพยาบาลรัฐควรจัดให้เป็นองค์การมหาชน ให้ชุมชนและท้องถิ่นทำงานไป

"การปฏิรูประบบสาธารณสุขเมื่อ12 ปีที่แล้วเป็นการปฏิรูประบบงบประมาณ ส่วนการปฏิรูปครั้งนี้เป็นการปฏิรูประบบการจัดการ ซึ่งต้องคำนึงถึงจังหวะ ความพร้อม และสอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญควรนำร่องทำทีละกลุ่ม การทำพร้อมกันทั้งหมดไม่เหมาะสม มันมีความเสี่ยง" นพ.สุรพงษ์วิพากษ์ทิ้งท้าย

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 1 ตุลาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง