ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาชาติธุรกิจ - สำหรับกองทุนที่มีเงินลงทุน1,049,239 ล้านบาท มีหน้าที่ดูแลเงินออมของผู้ประกันตนกว่า 10.5 ล้านคน และปี 2557 จะเป็น ปีแรกที่ต้องเริ่มจ่ายบำนาญชราภาพให้กับผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน ขณะที่ยังเก็บเงินสมทบจาก 3 ฝ่ายได้เพียงปีละ 1.2-1.3 แสนล้านบาท

"กองทุนประกันสังคม" จึงต้องวางแผนการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ สร้างผลตอบแทนระดับสูง เพื่อเป็นอีกช่องทางช่วย "ยืดอายุ" กองทุนให้สามารถดูแลสมาชิกอย่างมีคุณภาพในอนาคต

ภารกิจนี้อยู่บนบ่าของ "วิน พรหมแพทย์" หัวหน้าส่วนการลงทุนและรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ข้าราชการพลเรือนดีเด่นปี 2549 ซึ่งกำลังขะมักเขม้นเข็นแผนยุทธศาสตร์การลงทุนระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2557-2561) ออกมารองรับ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในแผนลงทุน 5 ปีข้างหน้า

จะกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เพื่อให้ผลตอบแทนสูงขึ้น โดยแบ่งเป็นการลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง 64% ในสินทรัพย์เสี่ยง 36% จากเดิม 85 : 15

สินทรัพย์เสี่ยงที่ว่าส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้น และอีก 10% เป็นการลงทุนทางเลือกอาทิ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งรวมสัญญาซื้อขายทองคำ ETF ราว 2-3% เพื่อกระจายความเสี่ยงด้วย ส่วนการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาฯกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีเป้าหมาย เพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว ซื้อแล้วถือได้นานเป็น 10 ปี แถมได้ Liquidity Premium (ส่วนชดเชย ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง)

การคัดเลือกกองทุนรวมจะเน้นผลตอบแทนปีละ 6-8% เช่น โรงไฟฟ้า ท่าเรือ ขนส่งมวลชน ซึ่งปัจจุบันถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาฯอยู่แล้ว 13-14 กอง

ส่วนในปี'57 เป็นต้นไป เมื่อมีกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือกอง REIT เกิดขึ้น เราก็พร้อมจะเข้าไปลงทุน เพราะลงทุนอาคารที่ตั้งในต่างประเทศได้ เพียงแต่ตอนนี้เราต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) และกระทรวงการคลังแก้ระเบียบก่อน ซึ่ง ไม่น่าจะมีปัญหา

อีกเรื่องที่จะเปลี่ยนไป คือ เพิ่มสัดส่วน การลงทุนในต่างประเทศ เป็น ต่างประเทศ 37% ในประเทศ 63% จากเดิมมีการลงทุนต่างประเทศเพียง 3%

ลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก จะบริหารให้เกิดความเชื่อมั่นอย่างไร

สาเหตุที่ต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศ เพราะปัจจุบันเงินใน ต่างประเทศของเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วตลาดทุนในไทยเริ่มรองรับไม่พอ ตอนนี้ เราถือตราสารหนี้ในประเทศ 8-9 แสนล้าน บาท หรือ 10% ของตลาด ซื้อมา ก็ขายยาก แล้วยังมีหุ้นในประเทศอีก 1 แสนล้านบาท

ดังนั้น จึงต้องกระจายไปต่างประเทศมากขึ้น และจ้างผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ที่ชำนาญการลงทุนใน ต่างประเทศดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่เรายังใช้ฟันด์แมเนเจอร์ในประเทศไทยที่ไปลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเหมือนที่ผ่านมา ส่วนในอนาคตอาจจ้างฟันด์ แมนเนเจอร์ในต่างประเทศบริหารด้วย หรืออาจตั้งเป็นกองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคลไปจ้างฟันด์ต่างประเทศดูแลการลงทุน ในต่างประเทศอีกทีก็ได้ มีได้ทั้ง 2 แบบ

สัดส่วนใหม่นี้คาดว่าจะทำให้เงินกองทุนโตขึ้น จากกว่า 1 ล้านล้านบาทในปัจจุบันเป็น 2 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือโตเป็น 2 เท่า และหากทำได้ตามแผนที่วางไว้เมื่อถึงสิ้นปีที่ 5 กองทุนประกันสังคมจะมีเงินสะสมอยู่ในต่างประเทศมากกว่า 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งการผ่องถ่ายเงินไปต่างประเทศจำนวนมาก ๆ ขนาดนี้เป็นเรื่องยากแต่ก็ท้าทายด้วย

พอร์ตหุ้น 1 แสนล้านบาทมีหลักเกณฑ์ซื้อ-ขายยังไง

หลัก ๆ คือการซื้อเพื่อรับปันผลแล้วระหว่างทางมีซื้อขายบ้างไม่เกิน 10% ของพอร์ตหุ้น ส่วนการเลือกหุ้น แต่ละปี ทีมงานจะเสนอหลักเกณฑ์การคัดกรองหุ้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานประจำปี ให้คณะกรรมการอนุมัติ เกณฑ์นี้จะกรองหุ้นจาก 500 ตัวในตลาด ดูจากมาร์เก็ตแคป สภาพคล่อง กำไร หนี้ เป็นต้น เลือก ออกมาเหลือ 70 ตัว

ต่อจากนั้นทีมงานจะนำหุ้น 70 ตัวไปวิเคราะห์เพิ่มเติมเป็นรายอุตสาหกรรม แล้วเลือกหุ้นที่มีความโดดเด่นในแต่ละอุตสาหกรรมว่ามีความสามารถในการแข่งขันดีหรือไม่ ผู้บริหารเก่งหรือไม่ มีข้อได้เปรียบคู่แข่งอย่างไร มีเงินสด กระจายปันผลในอนาคตได้มากหรือไม่ การเติบโตเป็นอย่างไร เพื่อคัดออกมา เหลือ 40-50 ตัว สำหรับลงทุนจริง ๆ หลังจากนั้นก็นำรายชื่อหุ้นที่ได้ใส่ไป ในระบบที่มีอยู่ให้รู้ว่าหุ้นที่เทรดได้มี รายชื่อและจำนวนเท่านี้ พร้อมกำหนดราคา เป้าหมายด้วยว่าต้องไม่เกินเท่าไร เพื่อป้องกันความผิดพลาดเชิงบุคคล หรือสั่งหุ้นผิดตัว และทบทวนรายไตรมาสละ 1 ครั้ง

ส่วนฝั่งขาย หุ้นแต่ละตัวที่เลือกเข้า ระบบนักวิเคราะห์ในทีมจะทำราคา ที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัว (Target Price) ว่ามีแนวรับ-แนวต้านเป็นเท่าไร ถ้าราคาลดลงมาถึงจุดที่เหมาะสมกองทุน ก็อาจเข้าไปซื้อเก็บเพิ่มได้ ส่วนหุ้น ตัวไหนที่ราคาขึ้นไปสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน ก็อาจมีขายทำกำไรบ้าง แต่การซื้อขายระหว่างทางมีน้อย ปีหนึ่งไม่ถึง 10%

ตามแผนใหม่ ภาพรวมผลตอบแทน จะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน

จากผลการศึกษาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การลงทุน ซึ่งมีบริษัทที่ปรึกษาทำประมาณการการลงทุนและผลตอบแทนในระยะ 20 ปีข้างหน้าระบุว่า หากเดินตามแผนนี้ผลตอบแทนจะโตปีละ 1% คือจากเดิมที่ได้ประมาณ 4.5% ต่อปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.5% ต่อปี และตามหลักการของ กองทุนประกันสังคม การลงทุนต้องได้ รับผลตอบแทนที่มากกว่าประชาชน ลงทุนเอง

แต่ก็ยอมรับว่าจะมีโอกาสที่ผลตอบแทนติดลบ 1 ครั้งในรอบ 20 ปี หรือขาดทุนไม่เกิน 2% ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ต้องนำเรื่องขอความเห็นชอบจากบอร์ดก่อนนำแผนไปดำเนินการ

เพราะตั้งแต่มีกองทุนมา 23 ปี ไม่เคยขาดทุนสักครั้งด้วย

ใช่ เพราะในยุคแรก ๆ กองทุนเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและเงินฝาก 100% จน 10 ปีหลังเริ่มแบ่งไปลงทุนในหุ้นหรือทางเลือกอื่น ๆ 15% ขณะที่ลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง 85% ก็ได้รับผลตอบแทนร่วม ๆ ปีละ 7% ซึ่งระยะหลังผลตอบแทนก็ลดลงตามภาวะดอกเบี้ยที่ลดลง

ขณะที่ผลการศึกษาของคณะทำงานระบุว่า หากยังลงทุนแบบเดิมต่อไปในอีก 20 ปีข้างหน้า ผลตอบแทนจะลดลงเหลือ 4.5% แล้วในอนาคตกองทุนจะมีภาระจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ประกันตน เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นกองทุนจึงต้องยอมรับความเสี่ยง คือ ระยะสั้น อาจติดลบบาง แต่ในระยะยาวกองทุนจะมีเงินจ่าย บำนาญให้ผู้ประกันตนสามารถยืดอายุกองทุนได้อีก 10 ปี พร้อมขนาดเงินกองทุนที่จะโตเร็วขึ้น

ต้องเตรียมคนรองรับแผนลงทุนใหม่อย่างไร

ใน 5 ปีเราต้องเพิ่มบุคลากรด้านการลงทุนเป็น 150 คน จากที่มีอยู่ตอนนี้ 55 คน และตอนนี้มีระเบียบใหม่เรื่องพนักงานและการลงทุนเฉพาะทางออกมาแล้ว ซึ่งจะทำให้เพิ่มนักวิเคราะห์การลงทุนเป็น 44 คน จากที่มีอยู่เดิม 20 คนได้ อันนี้ช่วยได้มากเพราะการลงทุนในอนาคตจะมีความหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องเตรียมเรื่องระบบไอทีด้วย

ส่วนการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนตามแผนใหม่ พ.ร.บ.ประกันสังคม ได้ให้อำนาจตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของ กองทุนแล้ว อย่างไรก็ตามแผนใหม่อาจต้องแก้ระเบียบของปี 2549 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันบางส่วน เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับแผน ดังนั้นจึงต้องขอให้บอร์ดอนุมัติ ซึ่งคาดว่าปีหน้าก็น่าจะใช้งานได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 - 16 ต.ค. 2556--