ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - 'ยาชุด-ลูกกลอน'ยังระบาดในชุมชนทั่วประเทศ กพย.ชี้กินแล้วหายป่วยเร็วเพราะผสม'สเตียรอยด์' จี้ อย.-สสจ.ควบคุมเข้ม หวั่นผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ยังพบเห็นปัญหาการใช้ยาผสมสารสเตียรอยด์จำนวนมาก โดยเฉพาะในย่านชุมชนของจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากยังมีการจำหน่ายยาชุดโบราณ หรือยาลูกกลอน อวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาได้สารพัดโรค ลดอาการปวดเมื่อย

"ยาดังกล่าวในระยะสั้น คนไข้ที่กินยานี้เข้าไปก็จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้น แต่ต้องกินต่อเนื่อง เปรียบเหมือนยาเสพติด แต่ในระยะยาวจะมีผลเสีย ทั้งกระดูกผุ กระเพาะอักเสบ ต่อมหมวกไตฝ่อ เป็นแผลง่าย ติดเชื้อง่าย เป็นต้น ที่ยังพบเห็นเนื่องจากมีการจำหน่ายโดยปราศจากการควบคุม แม้แต่ในร้านขายของชำ รถเร่ ยังขายยาชนิดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว แม้ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีนโยบายควบคุม ดูแล เฝ้าระวัง แต่ในระดับภูมิภาคค่อนข้างควบคุมยาก จึง เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่ต้องเฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแสไปยัง อย. ขณะเดียวกัน หากเป็นไปได้ อย.ควรจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ สสจ.อย่างสม่ำเสมอ" ผศ.ภญ.นิยดากล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ภญ.นิยดากล่าวอีกว่า เรื่องนี้เคยเข้าไปหารือกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เกี่ยวพันกับชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ยังพบว่า ระบบการควบคุมการขึ้นเลขทะเบียนยายังไม่ดีพอ เนื่องจากยังพบว่ายังมียาจำนวนมากที่อ้างว่าขึ้นทะเบียน มีการรับรองจาก อย. แต่เมื่อตรวจสอบกลับไม่มีหลักฐานปรากฏ เป็นเพราะผู้ผลิตยาบางแห่งผลิตยาได้ประมาณ 100-200 เม็ด แต่แจ้งขึ้นทะเบียนเพียงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากต้องการความรวดเร็วในการได้รับเลขทะเบียนเพื่อจำหน่าย โดยเมื่อได้รับเลขทะเบียนแล้วก็นำยาที่ผลิตทั้งหมดออกสู่ตลาด และปัจจุบัน อย.ไม่มีการตรวจสอบ ดังนั้น อย.ควรเข้มงวดเรื่องนี้ด้วย

ทางด้าน ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.มี นโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับปฐมภูมิ หรือที่เรียกว่าไพรมารีแคร์ (Primary Care) ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ดี ดังนั้นจึงควรมีการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการใช้ยาด้วย โดยเฉพาะยาอันตรายในกลุ่มยาสเตียรอยด์ชนิดต่างๆ ด้วย

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 28 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--