ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ - สมัชชาสุขภาพฯ นัดถก18-20ธ.ค.ผนึกแนวร่วมวิชาชีพสื่อ-แพทย์ ปฏิเสธโฆษณาสินค้าทำลายสุขภาพ

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 เร่งถกมาตรการกำกับดูแลการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดของสินค้าทำลายสุขภาพ หลังพบขยายตัวเร็วผ่านสื่อใหม่ๆทั้งทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการสบช่องใช้กิจกรรมเพื่อสังคมสร้างแบรนด์ในกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่

การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ภายใต้แนวคิด "สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน" วันที่ 18-20 ธ.ค.นี้ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพ มี 2 ประเด็นสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ได้แก่ 1.ร่างระเบียบวาระ "แผนยุทธศาสตร์ การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต" และ 2. ร่างระเบียบวาระ เรื่อง "การกำกับดูแลสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุราและยาสูบ" เวทีรับฟังความเห็นต่อการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต โดยมีประธานในเวทีรับฟังความคิดเห็นคือ ภญ.ศรีนวล กรกชกร อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับวราวุธ เสริมสินสิริ เภสัชกรชำนาญการ ระบุว่า ร่างแผนยุทธศาสตร์ การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต เกิดขึ้นจากมติที่ประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 ที่เร่งรัดให้เกิดการขับเคลื่อนมาตรการจัดการปัญหาโฆษณายาที่ผิดกฎหมาย ทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ วิทยุ และอินเตอร์เน็ตอย่างเร่งด่วน จึงมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงมาหารือ ประกอบด้วย อย. สำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กระทรวงไอซีที นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน ตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมายกร่าง ก่อนเริ่มเวทีเพื่อฟังความเห็นจากประชาชนใน ๔ ภาค ได้แก่ที่จังหวัดเชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และกทม. มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน ทั้งนี้ มีการเสนอมาตรการแก้ปัญหาไว้ 5 หัวข้อ ประกอบด้วย

1.การพัฒนานโยบายและโครงสร้างการบริหารจัดการปัญหาการโฆษณาที่กระทำผิดกฏหมาย 2. บูรณาการกฎหมายระหว่างหน่วยงาน ปรับปรุงกฎระเบียบและการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. พัฒนาศักยภาพวิชาชีพด้านสื่อเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ 4. สร้างและพัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ 5. พัฒนาระบบงานสนับสนุนและเฝ้าระวัง ทั้งนี้ เสียงจากเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมติ ได้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สะท้อนถึงปัญหาและเสนอหัวข้อให้สำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พิจารณาเพิ่มเติมเรื่องการตัดทอนวงจรเหล่านี้ตั้งแต่ระดับ "ต้นทาง" คือผู้จำหน่ายยาและอาหารเสริม พร้อมตัดตอนแนวทางการชักชวนให้ผู้บริโภคนำสินค้าไปขายต่อ รวมทั้งการควบคุมไม่ให้ แพทย์ พยาบาล มาทำหน้าที่เป็น "พรีเซ็นเตอร์" สินค้าเสียเอง นอกจากนั้น ยังเสนอให้มีการลงโทษด้วยการให้ กสทช.ขึ้นบัญชีดำหรือแบล็คลิสต์ สื่อที่เน้นการโฆษณาซ้ำๆให้กับสินค้าเหล่านี้ด้วย ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา อย.และกสทช.มีการปรับปรุงระบบข้อมูลข่าวสารให้ทันสมัย เปิดสายด่วนรับเรื่องร้องเรียน มีประชาชนแจ้งเบาะแสและพบการกระทำผิด ขอให้จัดการโฆษณาที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก พร้อมกันนั้น ยังได้มุ่งเน้นรณรงค์เรื่องจริยธรรมและการควบคุมกันเองของสื่อสารมวลชน การส่งเสริมความรู้ให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เป็นต้น

สำหรับเป้าประสงค์ของแผนยุทธศาสตร์นี้ กำหนดให้ปัญหาทั้งหมดต้องลดลงภายในปี 2560 เรื่องร้องเรียนต่างๆจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องได้รับการจัดการทั้งหมด จากนี้ยังได้เตรียมเดินหน้าขับเคลื่อน ที่จะให้หน่วยงานที่เข้าร่วมได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) หรือมีคณะกรรมการในระดับชาติขึ้นมา เพื่อกำหนดนโยบายแก้ปัญหาในอนาคต อุบล หลิมสกุล คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นปัญหาการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ พบว่า ผู้ประกอบการต้องการแสดงให้เห็นว่า สินค้านั้นมีความน่าเชื่อถือ จึงนำผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ นักวิชาการ นักวิจัย มาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสินค้า จึงเสนอให้ระบุมาตรการเพิ่มเติม เรื่องการควบคุมดูแลบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และมุ่งเน้นจริยธรรมในวิชาชีพกลุ่มนี้ ในร่างยุทธศาสตร์ฯดังกล่าวด้วย ขณะที่ ธนกร จรุงจันทร์ ตัวแทนสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล กล่าวว่า การโฆษณามีผลในกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการที่อยู่ในบ้านเป็นประจำ มักเสพสื่อจากเคเบิ้ลทีวีและเห็นการโฆษณาสินค้าเหล่านี้แบบซ้ำๆ จนเกิดความอยากได้ สุดท้ายผู้ที่เดือดร้อน คือลูกหลานที่ต้องหาซื้อผลิตภัณฑ์มาให้ จึงขอเสนอให้ดำเนินการกับต้นเหตุสำคัญ คือผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของสถานี "ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กสทช. อย. และ สคบ. ควรมีมาตรการลงโทษเจ้าของสถานีที่อนุญาตให้นำสื่อประเภทนี้มาออกอากาศ เช่นยึดใบประกอบกิจการ เอาชื่อขึ้นแบ็คลิสต์ เชื่อว่าถ้าตัดวงจรตรงนี้ได้ สินค้าเหล่านี้ก็จะไม่สามารถไปโฆษณาที่ไหนได้"

ด้านการรับฟังความเห็นในหัวข้อ "การกำกับดูแลสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุราและยาสูบ" นั้น ภารณี สวัสดิรักษ์ เลขานุการคณะทำงานฯ กล่าวว่า การโฆษณาแฝงของธรุกิจเหล้าบุหรี่ ปัจจุบันมีการเผยแพร่ในช่องทางสังคมออนไลน์มากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนลูกค้าในกลุ่มเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ทั้งยังมีการโฆษณาแฝงในลักษณะของการจัดกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์ โดยเชิญสื่อสารมวลชนทำหน้าที่เหมือนเป็นช่องทางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของเหล้าและบุหรี่  ดังนั้น คณะทำงานจึงมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยพัฒนากลไกในการกำกับดูแล ผ่านองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน พัฒนาศักยภาพผู้บริโภค เพิ่มความรู้เท่าทันสื่อและทักษะการเฝ้าระวังโฆษณา สนับสนุนการ "เฝ้าระวัง" โฆษณาและการสื่อสารทางการตลาดในแบรนด์สินค้า โดยอาศัย องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ และองค์กรสื่อ เป็นต้น ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของสินค้าเหล้าและบุหรี่ในปัจจุบัน พบว่า ผู้ประกอบการได้ใช้ช่องทางโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านสื่อสารมวลชน และวิธีสื่อสารการตลาด ทำให้เกิดนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีการเผยแพร่การโฆษณาผ่านเฟซบุ๊คแต่กฎหมายปัจจุบันยังดำเนินการไปไม่ถึง นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาให้หน่วยงานภาครัฐ จัดสรรงบประมาณการประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณชน เพื่อยกย่องและสดุดี สื่อน้ำดี ที่ช่วยเสนอพิษภัย อันตราย ของสินค้าเหล้าและบุหรี่ เป็นการหาแนวร่วม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ สนับสนุนพื้นที่โฆษณาแก่บริษัทเหล้าบุหรี่ รวมทั้งยังมีข้อเสนอให้ปรับหลักสูตรในโรงเรียน เพิ่มโทษของเหล้าและบุหรี่ ช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงอันตรายเพิ่มขึ้นด้วย

ที่มา: http://www.posttoday.com

เรื่องที่เกี่ยวข้อง