ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีมนักวิจัยจากภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลการศึกษาใหม่ว่าวัคซีนเอชพีวีมีประสิทธิภาพสูงในการลดการติดเชื้อจากไวรัสเอชพีวี ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งทวารหนัก รวมทั้งโรคหูดหงอนไก่

รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า โรคมะเร็งปากมดลูกถือเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดและเสียชีวิตสูง โดยไทยถือว่ามีอัตราการพบโรคเป็นลำดับ 2 ของโลก และลำดับ 1 ของเอเชีย

แต่ละปี มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 24.7 คนต่อประชากรแสนราย และเสียชีวิตเฉลี่ย 14 คนต่อวัน โดยพบว่าสาเหตุการเกิดโรคมาจากการติดเชื้อเอชพีวี โดยที่การมีเพศสัมพันธ์เป็นปัจจัยหลัก ประกอบกับการมีคู่นอนหลายคน เป็นต้น ส่วนอาการที่เตือนว่าเกิดโรค คือ ตกขาวมากกว่าปกติ และมีเลือดออกที่อวัยวะเพศ

ทั้งนี้ความจริงโรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยปัจจุบันมี 128 ประเทศ ที่ใช้วัคซีนเอชพีวี และ 58 ประเทศ รัฐบาลได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐาน ซึ่งจากที่พบงานวิจัยเพิ่มขึ้น และมีข้อบ่งชี้ทางวิชาการจำนวนมาก ทำให้จะมีการเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานอีกครั้ง

นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าสาขามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่าจากการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเรื่องความคุ้มค่าของการบรรจุวัคซีนเอชพีวี ให้เป็นวัคซีนพื้นฐาน โดยได้นำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายและความคุ้มค่าในการรักษาชีวิต ผู้ป่วยไว้ได้ ซึ่งเป็น การกำหนดตัวเลขใหม่ เทียบกับเมื่อ 3 ปี ก่อน เนื่องจากราคาวัคซีนมีอัตราลดลง โดยอ้างอิงจากประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งพบว่ามีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของคนไทย

ตัวอย่างการติดตามผลการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลียพบว่า มีการฉีดวัคซีนให้ผู้หญิงในปี 2550 เมื่อเข้าสู่ปี 2553 อัตราการติดเชื้อหูดหงอนไก่ในผู้หญิงลดลงประมาณ ร้อยละ 60 จากที่เคยตรวจพบอัตราการเกิดหูดหงอนไก่ กว่าร้อยละ 80

"จากงานวิจัยความคุ้มค่าทางสาธารณสุข ยังพบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก จะช่วยประหยัดงบฯ ในการรักษา หากฉีดในเด็กอายุ 11-12 ปี ได้ประมาณร้อยละ 39 และหากฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 11-24 ปี จะช่วยประหยัดงบประมาณร้อยละ 45 เชื่อว่าการให้วัคซีนเอชพีวี เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักในการลดมะเร็งปากมดลูกในสตรีทั่วโลก ควบคู่ไปกับการให้ความรู้และการตรวจคัดกรองที่สม่ำเสมอ" นพ.วิชัยกล่าวนพ.นิพนธ์ เขมะเพชร อาจารย์สาขามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า หลังจากมีการใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก พบว่า จำนวนประชาชนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย งานวิจัยยังพบว่า วัคซีนช่วยลดรอยโรคในหญิงที่มีเพศสัมพันธ์และได้รับเชื้อแล้ว โดยรอยโรคจะแบ่งเป็นรอยโรคที่ก่อให้เกิดเป็นมะเร็งขั้นสูง พบว่าลดได้ประมาณร้อยละ 50 และลดรอยโรคที่ทำให้เกิดมะเร็งขั้นต่ำได้ร้อยละ 25

ผศ.ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า การตรวจคัดกรองมีปัญหาหลายอย่าง เช่น การให้ประชาชนมาตรวจคัดกรอง หรือ ขาดเจ้าหน้าที่ในการอ่านผลตรวจ ซึ่งข้อดีในการฉีดวัคซีนอีกอย่าง คือ ได้ให้ความรู้กับเด็กตั้งแต่เริ่มต้นในการดูแลตัวเอง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 26 ธันวาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง