ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - สธ.ลั่นดูแลผู้ป่วยทุกกลุ่ม ไม่ปล่อยลอยแพ แม้ไร้สถานะทางบุคคล ทำหนังสือเวียนย้ำ รพ.ต้องให้บริการโดยไม่มีเงื่อนไข ด้าน กสม.เรียก สปสช.ชี้แจงแล้ว

กรณีกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะทางบุคคลกว่า 200,000 คน ถูกถอดสิทธิจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่รู้ตัว และไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้อีกจนได้รับความเดือดร้อนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองนั้น

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัด สธ.ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการสื่อสารที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ได้แจ้งให้ สธ.ทราบอย่างเป็นทางการ ตัวเลขประชาชนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจำนวน 202,139 คนที่ไม่สามารถใช้สิทธิโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้นั้น จากการตรวจสอบสิทธิพบว่าเป็นกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะ จำนวน 95,071 คน ส่วนที่เหลือกำลังตรวจสอบอยู่ว่าเป็น กลุ่มสิทธิซ้ำซ้อนหรือไม่ เนื่องจากบางรายเป็นลูกหลานของข้าราชการท้องถิ่น ซึ่งได้สิทธิในส่วนของกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลกองทุนส่วนท้องถิ่นแล้ว

"เรื่องนี้ขอยืนยันว่า แม้ระบบอาจจะอยู่ระหว่างดำเนินการ จนเกิดกรณีโรงพยาบาลบางแห่งไม่รับรักษานั้น จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะ สธ.ส่งหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ที่ให้บริการกลุ่มนี้จะอยู่ตามพื้นที่ชายขอบ หรือพื้นที่สูง และให้บริการโดยไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นหน้าที่และจรรยาบรรณวิชาชีพ ดังนั้นทุกฝ่ายไม่ต้องวิตกกังวล" นพ.ทรงยศกล่าว

นพ.ทรงยศกล่าวว่า สธ.ในฐานะดูแลฐานทะเบียนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ขณะนี้ได้เร่งรัดให้จังหวัดตรวจสอบจำนวนผู้ที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการ 30 บาท โดยให้แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หน่วยบริการสามารถลงทะเบียนบุคคลและสิทธิ และสามารถรับบริการปัญหาสถานะและสิทธิ หน่วยบริการสามารถลงทะเบียนบุคคลและสิทธิ และสามารถรับบริการได้ทันที 2.กลุ่มบุคคลที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เช่น คนต่างด้าว หรือบุคคลที่มีสัญชาติอื่นๆ เช่น จีน อังกฤษ เนปาล เพื่อแยกให้ชัดเจนว่ามีกี่คน เพื่อจัดระบบดูแลด้านสุขภาพอย่างถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มรอพิสูจน์สถานะที่ สปสช.ถอดสิทธิออกมา 95,071 คนนั้น จะเข้าสู่กองทุนใช้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือกองทุนคืนสิทธิได้เลยหรือไม่ นพ.ทรงยศกล่าวว่า คงต้องขอตรวจสอบตัวเลขผู้มีสิทธิที่จะอยู่ในกองทุนนี้ก่อน เนื่องจากที่ สปสช.ส่งตัวเลขมานั้นต้องตรวจสอบว่ามีรายชื่อซ้ำซ้อนกับสิทธิอื่นหรือไม่ และมีตัวตนหรือไม่ แต่รายชื่อยังไม่ถึง สธ. ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเรื่องนี้เป็นที่ระบบ ไม่เกี่ยวกับการบริการ ผู้ป่วยรอพิสูจน์สถานะจะต้องได้รับบริการทุกคน

"ปัญหาคือ สปสช.ถอดสิทธิแล้ว แต่กลับไม่ได้แจ้ง สธ.ล่วงหน้า การทำระบบจึงอาจคลาดเคลื่อน ตัวเลขจำนวนผู้รอพิสูจน์สถานะก็ยังไม่ชัดเจน จึงต้องรวบรวมข้อมูล แต่ทั้งหมดไม่ต้องกังวล สธ.แก้ปัญหาแล้ว ผู้ป่วยทุกคนยังคงรับการรักษาได้ตามเดิม หากมีปัญหาก็ร้องเรียนไปที่ สธ.ได้ทันที" นพ.ทรงยศกล่าว

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จะทำหนังสือถึงปลัด สธ.กรณีดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากส่งข้อมูลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ จำนวน 95,071 คน ไปให้ สธ.ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2556

"ผมยืนยันว่าตัวเลขดังกล่าวได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีสถานะทางบุคคล ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุชัดเจนว่า สปสช.จะดูแลและให้บริการด้านสุขภาพเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย จึงไม่สามารถที่จะดูแลคนกลุ่มนี้ได้ ทำให้ สปสช.ต้องถอดสิทธิคนกลุ่มดังกล่าว เพื่อเข้าสู่กองทุนคืนสิทธิ ซึ่งอยู่ในความดูแลของ สธ. เดิมทีคนกลุ่มนี้จะมีเลขบัตรเฉพาะ เพื่อให้ทราบว่าเป็นกลุ่มที่รอสิทธิ ซึ่งอยู่ในความดูแลของ สธ. เดิมทีคนกลุ่มนี้จะมีเลขบัตรเฉพาะ เพื่อให้ทราบว่าเป็นกลุ่มที่รอพิสูจน์สถานะ แต่ก็อนุโลมได้รับการดูแลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี 2545 แต่เมื่อมีการตรวจสอบระบบใหม่อีกครั้ง ทำให้ทราบตัวเลขเพิ่มเติม ซึ่งตามหลักแล้วเมื่อทราบว่ามีกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะจำนวนหนึ่ง ก็ต้องถอดออกจากระบบ 30 บาท และให้เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิทันที ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ สปสช." นพ.วินัยกล่าว และว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรียก สปสช.เข้าชี้แจงรายละเอียดแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้เคยส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า โดยเจตนารมณ์ สปสช.ต้องให้บริการผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกคน ซึ่งหมายรวมถึงคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทย ไม่ใช่แค่มีสัญชาติไทย นพ.วินัยกล่าวว่า ตามกฎหมายระบุชัดเจนว่าต้องเป็นคนที่มีสัญชาติไทย มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพราะงบประมาณที่ สปสช.ได้รับในการดูแลประชาชนในโครงการ 30 บาท ชัดเจนว่าต้องเป็นเช่นนั้น ส่วนงบประมาณในการดูแลกลุ่มรอพิสูจน์สถานะ ซึ่งจะได้ตัวเลขในทะเบียนราษฎรอีกประเภทหนึ่งต้องอยู่ในความดูแลของกองทุนคืนสิทธิ

แหล่งข่าวจาก สปสช.กล่าวว่า กสม.ได้เรียก สปสช.เข้าไปชี้แจงข้อมูลหลังจากได้รับการร้องเรียน โดยสรุปว่าปัญหาดังกล่าวมาจากการปรับปรุงการขึ้นทะเบียนบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ ก่อนหน้านี้ สปสช.และ สธ.ได้ประสานงานเพื่อปรับปรุงทุกวันที่ 15 ของเดือน ต่อมาในปี 2555-2556 สธ.มีการเปลี่ยนคณะทำงาน ทำให้ขาดการประสานงาน เป็นเหตุให้การปรับข้อมูลทะเบียนบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิเกิดความคลาดเคลื่อน

"ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงส่งข้อมูลไปยังสำนักงานทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบและเคลียร์สิทธิ ส่งผลให้มีการตัดสิทธิผู้ซ้ำซ้อนสิทธิออกจากระบบหลักประกันสุขภาพ 95,071 คน ในจำนวนนี้หาก สธ.นำข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุง กลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิก็จะได้สิทธิในกองทุนคืนสิทธิ ที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ทันที และ 95,071 คนจะไม่มีปัญหาการรักษาพยาบาล หากสามารถเข้าสู่กองทุนคืนสิทธิได้" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า แต่ปัญหาคือมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ระบุชัดเจนว่า กองทุนคืนสิทธิจะต้องดูแลสุขภาพของคนรอพิสูจน์สถานะ 450,000 คน ด้วยงบประมาณ 900 ล้านบาททุกปี ล่าสุดมีผู้ได้รับสถานะคนไทยแล้ว 120,000 คน ทำให้กลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะในกองทุนนี้เหลือเพียง 330,000 คน หากนำคนที่ สปสช.ถอดสิทธิ 30 บาทไปอยู่ในกองทุนก็จะเพียงพอ อยู่ในกรอบเพียง 330,000 คน หากนำคนที่ สปสช.ถอดสิทธิ 30 บาทไปอยู่ในกองทุนก็จะเพียงพอ อยู่ในกรอบที่ ครม.กำหนด แต่ทาง สธ.มีเจตนาที่ดีจึงนำบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิที่ยังไม่มีระบบประกันสุขภาพเข้าสู่กองทุน แต่ไม่ได้ประสานกับ สปสช.อีกจำนวน 65,000 คน จนเต็มอัตรา 450,000 คน ทำให้ไม่สามารถรับดูแลคนเพิ่มอีก ทั้งๆ ที่ตัวเลขที่ สปสช.และ สธ.นำมาอาจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

ภญ.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า ประเด็นกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะมีปัญหามาตลอด ซึ่ง สป.เคยทำการศึกษาและเตรียมเสนอ ครม.ให้มีการอนุมัติเพิ่มเติมจากเดิมเคยอนุมัติให้ดูแลคนกลุ่มนี้ 450,000 คน จะมีการพิจารณาขอเพิ่มเอีก 150,535 คน เนื่องจากเป็นกลุ่มตกค้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อ ครม.เป็นรักษาการ จึงยังดำเนินการไม่ได้ และ สป.ต้องประชุมพิจารณาอีกครั้งก่อนเสนอ ครม.

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 8 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง