ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดความหวั่นวิตกกับการระบาดของ “ซูเปอร์บั๊ก” (Superbug) ในประเทศอินเดียที่อาจลุกลามไปยังประเทศต่างๆ กระทั่งประเทศอังกฤษและสวีเดน เตือนไม่ให้ชาวอังกฤษและสวีเดนมารักษาพยาบาลในประเทศอินเดีย  แม้ ณ ขณะนั้น นักวิชาการของไทยก็กังวลที่จะเกิดปัญหากับประเทศเช่นกัน

เกิดคำถามว่า “ซูเปอร์บั๊ก” คืออะไร ซูเปอร์บั๊ก คือเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาอย่างยิ่ง เรียกง่ายๆ ปัญหาเชื้อดื้อยานั่นเอง โดยเฉพาะการดื้อยาปฏิชีวนะ เนื่องจากมีการทานยาอย่างไม่เหมาะสม  ทานไม่ครบตามกำหนด ตามแพทย์สั่ง รวมไปถึงซื้อยามาทานเอง จะส่งผลให้เกิดการดื้อยาในที่สุด ยกตัวอย่าง หากดื้อต่อยา เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) ก็ต้องหันไปใช้ยาในกลุ่มคาร์บาพีแนม(Carbapenems) รักษาแทน หากใช้ยานี้รักษาไปนานๆ จะเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาตัวใหม่ ที่เรียกว่า ซูเปอร์บั๊ก ซึ่งยังไม่มียาใดที่รักษาได้ ดังนั้น หากถึงขึ้นซูเปอร์บั๊ก ย่อมหมายถึงอันตรายอย่างสูงสุด เพราะหากไม่มียารักษาได้อีก ผู้ป่วยย่อมเสียชีวิตเป็นแน

จากกรณีที่เกิดขึ้น นักวิชาการหลากหลายประเทศกังวลต่อปัญหาเชื้อดื้อยามาโดยตลอด รวมทั้งประเทศไทย แต่ ณ ขณะนั้นดูเหมือนว่าแม้จะมีนโยบายควบคุมการใช้ยา แต่ออกมาในลักษณะการควบคุมการจ่ายยาราคาแพง ยากลุ่มโรคเรื้อรังเป็นหลัก แต่ในกลุ่มยาปฏิชีวนะ ยังน้อยมาก หรือแทบไม่มีด้วยซ้ำ

ซ้ำร้ายล่าสุดยังเกิดกรณีพบเชื้อซูเปอร์บั๊กอีกครั้ง โดยสำนักข่าวบีบีซี รายงานจากประเทศอังกฤษว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลเซ็นทรัลแมนเชสเตอร์พบเชื้อซูเปอร์บั๊ก หรือเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาอักเสบทุกชนิด โดยทำให้คนเสียชีวิตแล้ว 16 ราย เชื้อดังกล่าวมีชื่อว่า เคลบซิลลา นิวมอนีอา คาร์บาเพเนมาเซ หรือเคพีซี(Klebsiella pneumonia carbapenemase : KPC)  โดยตั้งแต่ปี 2552-2556 พบผู้ป่วยติดเชื้อเคพีซี 1,241 ราย เสียชีวิต 16 ราย โดยพบผู้ป่วย 14 ราย เสียชีวิตใน 30 วัน หลังติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตส่วนมากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ปลูกถ่ายอวัยวะ ลูคีเมีย และมะเร็งประเภทอื่น อาการผู้ป่วยป่วยที่ติดเชื้อ คือ ปอดบวม ไตวาย ติดเชื้อในลำไส้ โลหิตเป็นพิษ โดยอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการมากกว่าหนึ่งอย่างก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการติดเชื้อ และเสียชีวิตโดยเชื้อ เคพีซีในโรงพยาบาลอื่นในประเทศอังกฤษอีกด้วย แต่จากผลชันสูตรศพผู้เสียชีวิตรายหนึ่งอายุ 96 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากการติดเชื้อเคพีซีน พบว่ามียาแก้อักเสบบางตัวสามารถต้านทานเชื้อโรคนี้ได้  วารสารเจอร์นัลออฟแอนตี้ไบโอติคส์ ซึ่งเป็นวารสารเกี่ยวกับยาแก้อักเสบของประเทศอังกฤษ ตีพิมพ์การวิจัยว่า 39% ของผู้ป่วยทึ่เคยติดเชื้อเคพีซีจะมีเชื้อเคพีซีฝังอยู่ในลำไส้อีกนานนับปี ล่าสุดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลเซ็นทรัลแมนเชสเตอร์ ได้ทำการศึกษาการแพร่กระจายของเชื้อเคพีซีในพื้นที่ลอนดอนเซาแธมป์ตัน เบอร์มิงแฮมและชรอปไชร์ โดยทำการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อทำแผนที่การกระจายตัวของเชื้อเคพีซี เพื่อทราบถึงความรุนแรงของโรคมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นแนวทางว่าควรทำการวิจัยเพื่อหายาต้านเชื้อดังกล่าวหรือไม่

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

เรื่องนี้  “ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี” ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.)  ให้ข้อมูลว่า ซูเปอร์บั๊ก เป็นปัญหาที่พบมานาน แม้แต่ในประเทศไทยก็มีปัญหาดังกล่าว เพียงแต่ไม่มีหน่วยงานใดมาตรวจสอบว่า มีผู้ติดเชื้อซูเปอร์บั๊กหรือไม่ หรือมีผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะส่วนใหญ่จะพบว่าเสียชีวิตจากปอดบวม การติดเชื้อ แต่ไม่มีการเจาะลึกลงไปว่า เป็นเพราะเกิดจากเชื้อดื้อยาหรือไม่ อย่างกรณีรายงานข่าวจากประเทศ  นับเป็นตัวอย่างที่หลายประเทศควรระมัดระวัง เพราะก่อนหน้านี้ก็เจอที่อินเดีย มาตอนนี้เจอประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีการจัดการการใช้ยาดีพอสมควร แต่ก็ยังเจอปัญหาดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทยไม่ต้องพูดถึง มีปัญหามาตลอด

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า ที่เห็นเด่นชัดคือ  ทุกวันนี้คนไทยทานยาปฏิชีวนะ  โดยทานกันบ่อยมาก ทั้งๆที่ไม่จำเป็นเลย  แต่เพราะยากลุ่มนี้เข้าถึงง่าย หาซื้อสะดวก ตามร้านขายยาทั่วไป ยิ่งปัจจุบันตามสถานเสริมความงามในปัจจุบัน  ที่ทำการรักษาแก้ปัญหาเรื่องสิว ก็มักจะให้ยากลุ่มปฏิชีวนะ หรือที่เรียกว่า ยาอะม็อกซิซิลลิน (Amoxicillin) ซึ่งไม่แน่ชัดว่ายาชนิดนี้จะแก้ปัญหาสิวอย่างไร หรือสามารถแก้สิวอักเสบได้ ซึ่งจริงๆแล้ว หากจะทำให้ทุเลาก็น่าจะเป็นสิวอักเสบที่เป็นหนอง แต่ที่แน่ๆ หากมีการจ่ายยาชนิดนี้และให้รับประทานเกิน 1 สัปดาห์ ติดต่อกันบ่อยๆ ย่อมมีโอกาสเกิดอาการดื้อยาขึ้นในที่สุด และหากเป็นเช่นนั้น เมื่อเกิดเจ็บป่วยและต้องใช้ยากลุ่มนี้ก็ต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงขึ้น และหากไม่มี สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา ก็จะถึงขั้นดื้อต่อเชื้อซูเปอร์บั๊กในที่สุด และเมื่อถึงขั้นนั้นก็จะสายเกินไป

ปัจจุบันบริษัทยา ไม่นิยมผลิตยากลุ่มปฏิชีวนะแล้ว เนื่องจากไม่คุ้มทุน เพราะยากลุ่มนี้มักใช้ในประเทศกำลังพัฒนา ราคาจะสูงมากไม่ได้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะผลิตหรือวิจัยยาใหม่ๆอีก ทางเดียวที่จะทำให้มียาใช้ต่อไปคือ ต้องควบคุมการใช้ยาจุดนี้  อย่างไรก็ตาม ปัญหาดื้อยาปฏิชีวนะ เกิดขึ้นทั่วโลก โดยแต่ละประเทศให้ความสำคัญกันหมด ล่าสุดในระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคมนี้ นักวิชาการด้านเชื้อดื้อยาจากนานาประเทศจะมีการประชุมหารือปัญหาเชื้อดื้อยาระดับโลกขึ้น ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยตนได้รับเชิญไปหารือด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ทราบถึงสถานการณ์เรื่องนี้ และแนวทางในการควบคุม เพื่อเสนอต่อภาครัฐของตนต่อไป

“จริงๆ แล้วการควบคุมการใช้ยาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดื้อต่อยานั้น ไม่ใช่แค่การควบคุมการจ่ายยา การทานยาตามความเป็นจริง ตามกลุ่มอาการของโรคเท่านั้น แต่ในโรงพยาบาล สถานพยาบาลต่างๆ ก็ต้องมีการควบคุมด้วย เนื่องจากเชื้อเหล่านี้กระจายในโรงพยาบาลได้ เพราะหากหมอไปสัมผัสถูกเชื้อในตัวผู้ป่วย 1 คนที่รับเชื้อดื้อยา และหมอไปสัมผัสผู้ป่วยอีก 1 คนก็จะเกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งประเด็นนี้อาจไม่ต้องวิตกมากนัก เพราะมีระบบในการล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค ทั้งในห้องปลอดเชื้อ และทั่วไป หรือแม้แต่เนคไทของแพทย์ ปัจจุบันจะไม่ให้มีการสวมใส่ในโรงพยาบาล เพราะหมอจะไม่ค่อยซักทำความสะอาดเนคไท ทำให้เดี่ยวนี้ไม่มี แต่เรื่องนี้ก็ต้องมีการควบคุม คุมเข้มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน” ผู้จัดการ กพย. กล่าว

สุดท้ายไม่อยากให้ปัญหาเชื้อดื้อยาจบแค่ข่าวเท่านั้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดระบบป้องกันอย่างแท้จริง และรอบด้าน โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะ ที่พบการใช้อย่างพร่ำเพรื่อตลอด  หากช่วยกันทุกฝ่าย ย่อมดีกว่าให้ปัญหาเกิด และยากเกินแก้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง