ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ถามว่า ในกลุ่ม อสม.ในพื้นที่มีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันหรือไม่ ตอบเลยว่า  “มี” แต่นั่นคือความคิดเห็น ชอบ ไม่ชอบส่วนบุคคล แต่เมื่อเข้ามาทำงานเราจะไม่มีการพูดคุยเรื่องการเมือง  เพื่อให้การทำงานของเราดำเนินไปได้”

สิ้นเสียงคำบอกเล่าของ นางสุพรรณ เพชรสุข  อสม.ดีเด่นรดับชาติ ปี 2557 สาขา การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ที่กล่าวความเห็นต่างทางการเมืองที่ทุกวันนี้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น

จากการทำงานในฐานะอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่บ้านหนองกวาง อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย มีที่ต้องดูแลประชากรมากถึง 255 ครัวเรือน ขณะที่ อสม.ในพื้นที่มีเพียง 25 คน สุพรรณจึงคิดว่าการทำงานเชิงรุก น่าจะให้งานออกมามีประสิทธิภาพมากกว่าการทำงานเชิงรับ และจากการออกสำรวจในพื้นที่ของตนเองจึงพบว่า ปัญหาที่คนในพื้นที่ประสบอยู่และเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านโดยเร็วก่อนที่ผลเสียจะตามมานั่น คือ  การใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้ตามาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ที่มีวางขายตามร้านค้า หรือร้านค้าตามตลาดนัดทั่วไป

 “จากคำบอกกล่าวปากต่อปากของชาวบ้านที่ใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน ว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ทำให้ชาวบ้านแห่กันไปซื้อใช้กันเป็นจำนวนมาก กว่าจะเห็นผลเสียหรือผลกระทบที่ตามมานั้นต้องใช้เวลาที่นาน ”

ด้วยเหตุดังกล่าว สุพรรณ และทีมงาน อสม. จึงได้นำเอาเรื่องของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานมาเป็นหัวข้อหลักในการทำงาน ซึ่งเริ่มแรกเจ้าหน้าที่ อสม.ทุกคนจำเป็นต้องได้รับการอบรมจากแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับชาวบ้าน อีกทั้งยังต้องมีการสาธิต ทดสอบให้ชาวบ้านดูว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีสารต้องห้ามอะไรอยู่บ้าง 

ทั้งนี้การทำงานของพื้นที่บ้านหนองกวาง  ได้สอดคล้องกับการทำงานของ อย. ในปีงบประมาณ 2557 ที่ได้ออกแคมเปญรณรงค์ภายใต้แนวคิด “อยากสวย อย่าเสี่ยง” เน้นหนักไปที่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อความสวยงาม โดยรณรงค์ผ่านสื่อกิจกรรมและสื่อมวลชนเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อความงามที่มักจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด แผงลอย คลินิกและสถานเสริมความงาม สื่อเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการแอบอ้างว่าได้มาตรฐานจาก อย. พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวกับปัญหาโฆษณาเกินจริง ไม่ตกเป็นเหยื่อและหลงเชื่อคำชักชวนจากแม่ค้าหรือคำโฆษณาที่สื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

การทำงานที่เป็นจุดแข็งของ อสม.บ้านหนองกวาง สุพรรณ บอกว่า  การทำงานที่ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งของบรรดาเหล่า อสม. และที่สำคัญคือ ผู้นำชุมชนในพื้นที่ต้องให้ความสำคัญกับงานที่ อสม. ทำด้วย  สำหรับในพื้นที่ของตนเองได้ใช้กลยุทธ์ แอบดู , รู้รายละเอียด  ,เบียดเวลา ,หาแหล่ง  และแจ้งเหตุ  คือ แอบดู  อสม.ทุกคนจะต้องคอยสอดส่องดูว่าพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบนั้น  มีปัญหา มีเหตุอะไรบ้าง  , รู้รายละเอียด คือ รู้รายละเอียดเส้นทางการทำงาน รวมทั้งความรู้ที่จะนำไปเผยแพร่ , เบียดเวลา  คือ ใช้เวลาส่วนตัวของ อสม.แต่ละคน ออกสำรวจร้านค้าใดที่ขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน จะมีการพูดคุยชักจูงให้เขาเลิกเลยสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน  , หาแหล่ง คือ นอกจากจะดูว่ามีร้านค้าได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว แล้วยังสำรวจเชิงลึกไปถึงแหล่งผลิต และสุดท้ายคือ แจ้งเหตุ  เมื่อพบการกระทำผิดจะมีการแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่  และชาวบ้านให้ได้รู้ว่า มีผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใดที่ทำผิดกฎหมาย

“การขอความร่วมมือกับร้านค้าเป็นการทำงานที่ยากมาก เพราะเขาจะอ้างว่า ที่ต้องนำมาขายเพราะลูกค้าถามหา  แม้เราจะพยายามบอกว่า ถ้าหากมีเจ้าหน้าที่ของ อย.มาตรวจพบ คุณจะโดนปรับมากกว่ากำไรที่ได้มา แต่พวกเขาก็ยังคงนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมาจำหน่ายอยู่ โดยเฉพาะร้านค้าตามตลาดนัด เราจึงให้ไปให้ความรู้กับประชาชนผ่านหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน หรือบางครั้งจะมีการพาเภสัชกรออกตรวจในพื้นที่ให้ชาวบ้านได้เห็นกันตรงๆไปเลย”

จากเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมากขึ้น ซึ่งบางครั้งได้สร้างความโกรธเคืองให้กับผู้ขายที่ถึงกับมีการโกรธ ว่ากล่าวกัน แต่ทีม อสม.ก็มิได้โกรธตอบ เพราะคิดว่า นี่คือการทำงานเพื่อชาวบ้านในพื้นที่ของตนเอง

นอกจากการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว ทีมงาน อสม.บ้านหนองกวาง ยังได้เข้าไปดูแลชาวบ้านตั้งแต่เรื่องกินกันเลย เพราะทุกคนเห็นว่า เรื่องกินถ้ากินดี จะส่งผลให้สุขภาพร่างกายดีไปด้วย ไม่ต้องไปหาหมอ บ้านไหนไม่มีพื้นที่ เราจะแนะนำให้ปลูกพืชผักสวนครัวในกระถางแทน และส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรต่างๆมาเสริมความงาม เช่น การใช้หัวไชท้าวมารักษาฝ้า เป็นต้น  ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว จะส่งผลให้แต่ละครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายน้อยลง และมีความรู้ที่จะนำของพืชผักสวนครัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านอื่นๆได้อีกด้วย

แต่ ณ เวลานี้ ถ้าไม่มีการกล่าวถึงเรื่องการเมืองที่ระดับผู้นำในกระทรวงสาธารณสุขออกมาเคลื่อนไหวคงจะเป็นเรื่องแปลก สุพรรณ บอกว่า นั่นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่เขาจะออกมาเคลื่อนไหวกัน แต่ในการทำงานของกลุ่ม อสม.เราจะไม่มีการพูดคุยเรื่องการเมือง เพื่อให้การทำงานของเราดำเนินไปได้ ถ้าถามในความคิดส่วนตนแล้ว ตนคงจะเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับชาวนา เพราะเป็นเรื่องที่ชาวนาประสบความเดือดร้อนจริงๆ

หากการเมืองจะมากระทบถึงกลุ่ม อสม.จริงๆ ก็ต่อเมื่อ ผู้นำ อสม.มีความเห็นคิดทางการเมืองที่ต่างจากผู้ใหญ่ นั่นแหละจะทำให้ อสม.ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และเมื่อนั่น อสม.จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ผลที่ตามมาคือ การถูกปล่อยปละละเลยในทุกๆเรื่อง นั่นคือ ผลกระทบที่แท้จริงที่เกิดจากความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม สุพรรณ ได้สะท้อนปัญหาของการทำงานที่อยากจะฝากไปถึงกระทรวงสาธารณสุข  คือ เรื่องของงบประมาณ ที่ในอดีตจะมีการให้งบประมาณส่งตรงไปถึง อสม. แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนถ่ายไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กระจายงบประมาณไปให้ อสม. ซึ่งบางครั้งเกิดความล่าช้า หรือแม้แต่งบประมาณที่ได้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการต่างๆของ อสม.ที่เกิดขึ้น บางครั้งมีเจ้าหน้าที่ อสม.เพียงไม่กี่คนเข้าร่วมประชุม นอกนั้นเป็นคนนอกหมด ซึ่งบางครั้งอาจไม่มีความเข้าใจในการทำงานของ อสม. จึงทำให้งบประมาณที่ได้รับไม่ตรงกับเนื้อหาของงานที่ทำ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง