ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์จะเจริญรุดหน้าไปมาก มีการคิดค้นนวตกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง รวมถึง “ยาที่ใช้ในการรักษาโรค” ส่งผลให้โรคที่เคยเป็นปัญหาในอดีต และเป็นสาเหตุทำให้คนจำนวนมากเสียชีวิตลงสามารถรักษาได้ แต่เป็นที่น่าเสียดาย แม้ปัจจุบันจะมียารักษาโรคเหล่านั้นได้ แต่กลับมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงด้วยอุปสรรด้านราคา ทำให้ไม่ได้รับการรักษาและเสียชีวิตลงในที่สุด ซึ่ง “ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี” เป็นหนึ่งในกลุ่มยาดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ทาง “องค์การอนามัยโลก” (WHO) จึงได้เรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตยาไวรัสตับอักเสบซีลดราคาลง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยทั่วโลกเข้าถึงยาได้ ไม่ต้องเสียชีวิตจากมะเร็งตับ ซึ่งผู้ป่วยสามารถหายขาดหากได้รับยารักษา อีกทั้งข้อมูลอุบัติการณ์ของโรคไวรัสตับอักเสบซี อ้างอิงข้อมูลบริจาคโลหิต ประมาณการว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 3 ของประชากรโลก หรือราว 170 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 3.5 แสนคน หากลดราคายาลงจะเป็นการช่วยผู้ป่วยตับอักเสบซีทั่วโลก

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เครือข่ายคนทำงานด้านเอดส์ทั่วโลกได้เรียกร้อง เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดมีอัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมสูงมาก จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ด้วยยาที่แพงมากทำให้เข้าถึงการรักษา จึงมีการเรียกร้องให้บริษัทยาลดราคายาเพ็กอินเตอร์เฟอร์รอน (Peg Interferon) และยาไรบาวิริน (Ribavirin) ลง แต่ในส่วนประเทศไทย ปัจจุบันผู้ป่วยด้วยโรคตับอักเสบซีต่างเข้าถึงยาเพ็กอินเตอร์เฟอร์รอนและยาไรบาวิรินอยู่แล้ว และบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการต่อรองราคายา ทำให้ราคายานี้ลดลงจนให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้

ทั้งนี้มีประเด็นต่อว่า แม้บริษัทยาได้ยอมลดราคายาเพ็กอินเตอร์เฟอร์รอนลงแล้ว แต่พบว่าผู้ป่วยยังคงประสบปัญหาการเข้าถึงการรักษา เนื่องจากเกณฑ์การใช้ยากำหนดให้ใช้รักษาเฉพาะผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี สายพันธุ์ 2 และ 3 เท่านั้น ทำให้ต้อง มีการตรวจวินิจฉัยทางแลปก่อน ซึ่งค่าตรวจนี้แพงมาก และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ครอบคลุม ขณะที่หน่วยบริการเองไม่อยากจ่ายเช่นกัน จึงเป็นอุปสรรคการเข้าถึงยานี้ ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาทางโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จึงศึกษาความครอบคลุมการรักษาไวรัสตับอักเสบซีทุกสายพันธ์ในยาเพ็กอินเตอร์เฟอร์รอนซึ่งคาดวาจะมีผลจะออกมาในเร็วๆ นี้

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ยังมีประเด็นในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากมีการระบุว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรับยาตับอักเสบซียาวนานกว่าผู้ป่วยตับอักเสบซีทั่วไป คือต้องรับยาต่อเนื่อง 48 สัปดาห์ จากระยะเวลาการรักษาปกติที่ 24 สัปดาห์ จึงทำให้คนเหล่านี้ถูกมองว่าไม่คุ้มค่าในการรักษา เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าไม่ถึงยา แต่หลังจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ทำการวิจัย ชี้ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถรับยา เพ็กอินเตอร์เฟอร์รอนเพียง 24 สัปดาห์ก็หายขาดเช่น จึงทำให้มีการปรับหลักเกณฑ์ข้อบ่งชี้การใช้ยาเพ็กอินเตอร์เฟอร์รอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธานคณะทำงานต่อรองราคายาเพื่อบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2556 - 2558 กล่าวว่า ในการบรรจุยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยปกติยาที่มีราคาแพงไม่ใช่ทุกตัวจะไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนต่อรองราคายา แต่ต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการรักษาก่อน ซึ่งกรณียารักษาไวรัสตับอักเสบซี นอกจากเป็นโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมากและมีปัญหาการเข้าถึงยาแล้ว คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้มอบให้ทาง HITAP ทำ “การประเมินต้นทุนประสิทธิผลการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดซี” พบว่าการให้การรักษามีความคุ้มค่า หากต่อรองราคาลงได้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ทางคณะทำงานต่อรองราคายา จึงได้เดินหน้าเพื่อทำการเจรจากับทางบริษัทยาผู้จำหน่าย

“โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคเงียบ ส่วนใหญ่คนไข้จะไม่รู้ตัวจึงต้องทำการคัดกรองก่อน ประกอบกับจากการประเมินความคุ้มค่าในการรักษาชี้ว่า ยานี้จะได้ผลดีกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์ 2 และ 3 ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 60 ของผู้ป่วยตับอักเสบซี โดยมีโอกาสหายถึงร้อยละ 85-90 ทางคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติจึงได้ให้ต่อรองราคายานี้ แต่มีเงื่อนไขบ่งใช้เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบซีจากสายพันธุ์ 2 และ 3 เท่านั้น” ภญ.เนตรนภิส กล่าว

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า จากผลการต่อรองราคายาเพ็กอินเตอร์เฟอร์รอน ทางบริษัทยายอมลดราคายาลงถึงร้อยละ 70 พร้อมให้ยาไรบาวิริน ซึ่งเป็นยาที่ต้องใช้รักษาควบคู่กัน ทั้งนี้การต่อรองราคายาใช้เวลาเกือบ 5 เดือนจึงสำเร็จ ซึ่งการต่อรองราคายาได้ใช้ข้อมูลการเบิกจ่ายชดเชยผู้ป่วยตับอักเสบซีของทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้บริษัทยามั่นใจยอดขายและยอมลดราคาลง ทั้งนี้ด้วยราคายาเพ็กอินเตอร์เฟอร์รอนที่ลดลง จึงมีการเสนอขยายการใช้ยาให้ครอบคลุมไปยังผู้ป่วยตับอักเสบซีสายพันธุ์ 1 และ 6 รวมไปถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์การใช้ยานี้

ทั้งหลังบรรจุยาเพ็กอินเตอร์เฟอร์รอนในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีที่เข้ารับการรักษาสะสมตั้งแต่ปี 2555 จำนวน 1,292 ราย (เฉพาะสายพันธ์ 2 และ3 ) โดยเป็นผู้ป่วยสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพ 845 ราย ผู้ป่วยประกันสังคม 447 ราย เป็นมูลค่าการจัดซื้อยาและค่าตรวจห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการวินิจฉัย 144 ล้านบาท

ขณะที่ ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า นอกจากยาเพ็ก อินเตอร์เฟียรอน ที่ได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเข้าถึงยาแล้ว ปัจจุบันมียา Simeprevir ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และยา Sofosbuvir ของบริษัท จีลีด ไซน์ส เป็นยาที่พัฒนาขึ้นในปี 2556 เป็นยากินและมีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่า แต่มีราคาแพงมาก ตกอยู่ที่ราคาเม็ดละ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาสูงถึง 66,000-84,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อรับยาต่อเนื่อง 12 สัปดาห์ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา ด้วยเหตุนี้จึงได้มีข้อเรียกร้องขอให้ลดราคายา และเห็นว่ายานี้ไม่ควรได้สิทธิบัตรเนื่องจากไม่ใช่ยาใหม่

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า นอกจากนี้ในการจำหน่ายยาของบริษัทปรากฎว่า มีการกำหนดราคาขายไม่เท่ากัน โดยในสหรัฐฯ อยู่ที่ 84,000 เหรียญสหรัฐฯ แคนนาดา 55,000 เหรียญสหรัฐ และเยอรมัน 66,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่าง อียิปต์ บราซิล อินเดีย ขายเพียงแค่ 900 เหรียญสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนราคาที่บริษัทสามารถขายได้ และการกำหนดราคาดังกล่าวยังทำให้ประเทศที่มีรายได้ระดับกลางเข้าไม่ถึง อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบขณะนี้ทางกลุ่มภาคประชาสังคมในอินเดียได้คัดค้านการจดสิทธิบัตรยาดังกล่าว ซึ่งต้องติดตาม เพราะหากสำเร็จจะทำให้ให้มีการผลิตยาสามัญที่ทำให้มีราคาถูกลงและเข้าถึงได้

“ขณะนี้ประเทศไทยต้องดูว่าจะทำอย่างไร และไม่ทราบว่าบริษัทยาที่ขายดังกล่าวได้มีการนำยาทั้ง 2 รายการมาขึ้นทะเบียนในไทยแล้วหรือไม่ ซึ่งคงต้องเตรียมความพร้อม หากยานี้มีประสิทธิผลการรักษาที่ดีจริง ควรจะหาวิธีเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา” ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าว