ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขยฝรั่งหัวหมอ หอบโรคประจำตัวแห่ซื้อประกันสุขภาพต่างด้าวของไทย เพราะให้สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลเพียบ แต่จ่ายราคาเบาๆ เพียงแค่ 2,200 บาทต่อปีเท่านั้น ชี้หากไม่เร่งแก้ไข อนาคตเกิดปัญหาการเงินในระบบสุขภาพแน่ ด้าน กก.บริหารกองทุนเตรียมถกอัตราค่าบัตร-สิทธิประโยชน์ใหม่เร็วๆ นี้

นพ.มนัส กนกศิลป์ ผอ.รพ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานีได้เปิดขายบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวในประเทศไทย ตามมติ ครม.ที่ได้อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการนั้น ในส่วนต่างด้าวประเภทที่ 1 หรือแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติประกอบด้วย พม่า กัมพูชา และลาวนั้น ดำเนินการตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนของต่างด้าวประเภทที่ 2 คือกลุ่มที่เป็นชาวต่างด้าวที่ไม่ได้เป็นแรงงาน แต่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยค่อนข้างถาวร มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร แต่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่เข้ามาแต่งงานกับคนไทย ขณะนี้ต้องชะลอการจำหน่ายบัตรไว้ก่อน เนื่องจากผู้ที่มาซื้อบัตรส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้วค่อยมาซื้อบัตรประกันสุขภาพ โดยเฉพาะโรคคนชรา กลุ่มคนเหล่านี้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา รับยาทุกเดือน ซึ่งตนเห็นว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นความไม่ยุติธรรมกับคนไทย และไม่ถูกต้องตามหลักการของการประกันสุขภาพ ที่จะต้องให้ผู้ที่ไม่มีโรคมาซื้อบัตรประกันสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต เป็นการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกัน

นพ.มนัสกล่าวว่า ตั้งแต่เปิดขายบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวตั้งแต่เดือน ส.ค.2556-พ.ค.2557 มีชาวต่างด้าวที่มาลงทะเบียนซื้อบัตรประกันสุขภาพที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี ประเภทที่ 1 อายุบัตร 3 เดือน 300 บัตร ต่างด้าวทั่วไปอายุบัตร 12 เดือน จำนวน 302 ใบ เป็นเงิน 644,400 บาท คิดแล้วไม่ถึง 1% ของจำนวนชาวต่างด้าวจะต้องมาซื้อบัตรประกันสุขภาพ จะเห็นได้ว่าแค่นี้ก็มีปัญหาแล้ว และถ้ายังเปิดขายต่อไปโดยไม่จำกัดจำนวน และไม่ทำอะไรเลย ก็จะเกิดปัญหาด้านการเงินกับกองทุนสุขภาพของประเทศอย่างแน่นอนในอนาคต

สำหรับสิทธิประโยชน์ การตรวจรักษาโรคและฟื้นฟูสภาพทั่วไป การรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคเกี่ยวสมอง หัวใจ เป็นต้น หรือโรคเรื้อรังในกลุ่มผู้สูงอายุ การให้ยาต้านไวรัสเอดส์ การรักษากรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน การส่งต่อการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การตรวจสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ การคลอด และการให้บริการดูแลหลังการคลอด การคุมกำเนิด รวมทั้งการให้วัคซีนขั้นพื้นฐาน เป็นต้น ส่วนค่าเบี้ยบัตรประกันสุขภาพต่างด้าว ที่ต้องจ่ายมีราคาเพียง 2,200 บาทต่อปีเท่านั้น

ด้าน นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ. กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์ กล่าวว่า ในกลุ่มต่างด้าวที่ไม่ใช่แรงงาน เช่น กลุ่มที่มาแต่งงานกับคนไทยนั้น เป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมาก เพียงประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งตอนนี้ต้องมีการตรวจสอบโดยเอาตัวเลขทั้งหมดมาดูว่ามีมากแค่ไหน อยู่ในพื้นที่ไหน การแก้ปัญหาต้องทำให้สอดคล้องกับพื้นที่ สอดคล้องกับสภาพบุคคล ทั้งนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าวนั้นวางเพื่อการดูแลป้องกันโรคสำหรับ 3-4 ล้านคน เพราะหากไม่ดูแลอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์โรคในประเทศไทย แต่การวางระบบอาจจะยังไม่สมบูรณ์ได้ภายในครั้งเดียว ต้องมีการแก้ไขกันต่อไป แต่ตอนนี้ทิศทางถูกต้องแล้ว

นพ.บัญชา ค้าของ ผอ.สำนักบริหารกลาง กลุ่มงานหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการบริหารหลักประสุขภาพแรงงานต่างด้าวได้รับการเสนอเรื่องดังกล่าวจากหลายโรงพยาบาลเข้ามาเช่นเดียวกัน จึงได้มีการหารือในคณะกรรมการฯ และเห็นว่าจะต้องมีการพิจารณาราคาขายบัตร โดยกำหนดตามอัตราความเสี่ยงการเป็นโรค และกำหนดสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล เมื่อประกาศออกไปแล้วต้องดำเนินการตามนั้น แต่หากโรงพยาบาลใดที่ประสบปัญหานี้ และอยากชะลอการขายบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวประเภทที่ 2 นั้น ขอให้ทำเรื่องเข้ามายัง สธ.เพื่อพิจารณาเป็นกรณีไป ทั้งนี้ ในส่วนของของแรงงานต่างด้าวประเภทที่ 1 นั้นไม่มีปัญหา ยังเปิดขายตามปกติ

"เมื่อมีการประกาศนโยบายไปแล้วคงต้องปฏิบัติตาม โรงพยาบาลใดที่ขายบัตรไปแล้วไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายสูงจากงบส่วนกลาง เพราะปกติเมื่อขายบัตรเหล่านี้แล้วจะนำเงินส่วนหนึ่งเข้ามายังส่วนกลางเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะโรครักษายาก ค่าใช้จ่ายสูง จะเบิกเอาจากตรงนี้" นพ.บัญชากล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง