ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาธารณสุขไทย-ลาว ประชุม เฝ้าระวัง "โรคติดต่อชายแดน" เตรียมรับประชาคมอาเซียนโดยมีโรคติดต่อที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ โรคอหิวาห์ตกโรค โรคโปลิโอ โรคซาร์ส

วันที่ 23 มิ.ย. อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาล ผู้ตรวจราชการเขตบริการสุขภาพที่ 10 เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทีม SRRT. จังหวัดชายแดนและเครือข่ายในการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ โรคอุบัติใหม่และภัยสุขภาพ โดยมี นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ให้การต้อนรับ พร้อม ดร.หวาด กองแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขแขวงจำปาสัก สปป.ลาว นำคณะร่วมงานด้วย

นพ.ทวีเกียรติ กล่าวว่า โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทีม SRRT. จังหวัดชายแดนและเครือข่ายในการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ โรคอุบัติใหม่และภัยสุขภาพ เพื่อพัฒนาทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วของทั้งสองประเทศ ในพื้นที่ชายแดนทั้งประเทศไทยและประเทศลาวให้มีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นตำบลจนถึงระดับจังหวัด

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อม ภายหลังประเทศมีนโยบายเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะนำไปสู่การเคลื่อนย้ายของประชากรเข้าออกในประเทศต่างๆ เกิดการไหลบ่าของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จากการเคลื่อนย้ายประชากรจากประเทศในอนุภาคลุ่มน้ำโขง ที่จะเดินทางไปมาระหว่างประเทศทั้งทางบกและทางน้ำ (เรือข้ามฟาก) ก่อให้เกิดโรคติดต่อที่เป็นปัญหาในพื้นที่ชายแดน แพร่ระบาดระหว่างประเทศและกลายเป็นภาวะคุกคามฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยมีโรคติดต่อที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่ โรคอหิวาตกโรค โรคโปลิโอ โรคซาร์ส เป็นต้น

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ จึงได้มีการประชุมเพื่อความร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็น ในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้มีระบบการเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสองพื้นที่เป็นรายสัปดาห์ และรายเดือน พร้อมพัฒนาระบบเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคร่วมกัน โดยจัดการประชุมความร่วมมือด้านสาธารณสุขเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง โดยสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลโรคติดต่อที่สำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในชุมชน และสามารถจัดการควบคุมโรคได้ทันที

เรื่องที่เกี่ยวข้อง