ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คุณยายอัมภา วันนี้ไม่มาเหรอจ๊ะ  เภสัชกรถามลูกสาวยายที่มารับยาที่ช่องจ่ายยาแทนผู้ป่วย

นั่นไงคะ ที่นั่งอยู่บนรถเข็นไง ลูกสาวคุณยายอัมภาตอบพร้อมชี้มือไปที่หญิงชราที่นั่งอยู่บนรถเข็น 

เภสัชกรมองตามมือลูกสะใภ้ของยายอัมภาไป แล้วต้องทำหน้างง เพราะ ภาพยายอัมภาผู้ที่มีน้ำหนักถึง 90 กิโลกรัม อายุ 53 ปี จะกลายเป็นคุณยายแก่ๆที่มีน้ำหนัก 65 กิโลกรัมภายในเวลาไม่กี่เดือนได้อย่างไร  

ย้อนกลับเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2556 เภสัชกรได้พบคุณยายอัมภา ที่มารับยาลดความดันโลหิตสูง จากการสังเกตแล้วคุณยายมีภาวะบวมตามร่างกาย จึงทำการซักประวัติเพิ่มเติม 

ยายอัมภาเล่าว่า “ขายส้มตำ  ยืนขายนานๆ  ก็ปวดเอว ยายเลยกินยาประดง กับยาโตจี๊ด เป็นประจำตั๊วะหมอ ยาโตจี๊ดมันเป็นยาเม็ดสีเขียว เม็ดรี  ซื้อจากร้านยาหน้าตลาด ซื้อ 100 เม็ด กะ 50 บาท ส่วนยาประดง มันเป็นชุด ชุดละ 3 เม็ด ซื้อจากร้านยาหน้าคิวรถ ขี่มอไซด์ไปจอดหน้าร้านยานี่ บ่ต้องเอ่ยปากเลยเด๊ะหมอ เพิ่นจำหน้าได้ หมอตี๋เพิ่นกะบอกให้ลูกน้องจัดให้เทือละ 10 ชุด เป็นเงิน 60 บาทเลย  ผู้ได๋กะมัก ยาประดง ยาโตจี๊ด กินแล้วกะเซาปวด กินยาประดงคืนละ 1 ชุด บวกกับยาโตจี๊ด คืนละ 1 เม็ด กินติดต่อกันทุกคืนตั้งแต่ปี 2554 มานี่ล่ะหมอ มื้อได๋บ่ได้กินกะหงุดหงิด ปวดขาคักๆ นอนกะบ่ได้...”  

ลูกสาวก็ถามว่า  “แม่ ทำไมคนอื่น ไม่เป็นเหมือนแม่ แม่ต้องกินยาพวกนี้ทุกคืนเลย”

คุณตาผู้เป็นสามีก็บอกว่า “ถ้ายายอัมพรบ่ได้กิน ก็อยู่บ่ได้ ปานมันเป็นยาเสพติด”

ยายอัมพร รำพึงรำพันว่า  “อยากให้กูตายบ้อ กูเจ็บ กูปวด”  ก็เลยต้องกินยาต่อไป 

พอได้รับข้อมูลเภสัชกรก็แนะนำอธิบายถึงอันตรายของยาโตจี๊ดกับยาประดงของยายอัมภา ซึ่งน่าจะเป็นยาสเตียรอยด์ทั้ง 2 รายการ จึงเข้าปรึกษาแพทย์ แพทย์สั่งจ่ายยา สเตียรอยด์ เพรดนิโซโลน วันละ 1 เม็ด เพื่อให้คุณยายหยุดยาเดิม (ไม่สามารถเลิกยาทันที จะเป็นอันตรายกับคนไข้) จนปัจจุบันลดขนาดเหลือ 1 เม็ด วันเว้นวัน  อาการหงุดหงิด อาการปวดก็ดีขึ้น 

จากสภาพการใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานานหลังคุณยายประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ล้ม ในเดือนมิถุนายน 2556 ด้วยความที่เห็นว่ามีแผลถลอกที่ขาเพียงเล็กน้อยจึงไม่ได้มารักษาที่โรงพยาบาล แต่หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ แผลกลับบวม แดงขึ้น นอนรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลเสลภูมิ 3 คืน แล้วต้องถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอีก 12 คืน  ซึ่งขณะที่อยู่รพ.ร้อยเอ็ดคุณยายอัมภามีแผลกดทับที่สะโพกทั้ง 2 ข้าง พร้อมด้วยอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน กลับมาอยู่รพ.เสลภูมิอีก 3 วัน แล้วกลับไปที่บ้าน อาการเบื่ออาหารก็เป็นนานถึง 5 เดือน จนน้ำหนักลดลงเหลือเพียง 65 กิโลกรัม และผมร่วงดูซีดเซียว แก่กว่าอายุจริงเป็นอย่างมาก

เมษายน 2557  เภสัชกรร่วมกับพยาบาลกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัว ออกเยี่ยมบ้าน พบคุณยายนั่งบนเตียง ขาบวม และที่สำคัญขาทั้งสองข้างไม่มีแรง แม้แต่จะขยับขาออกจากท่านั่งได้เอง คุณยายมีวอล์กเกอร์ช่วยเดินสำหรับใช้ในการเข้าห้องน้ำขณะอาบน้ำต้องนั่งเก้าอี้อาบ อีกทั้งต้องรับประทานยาโปแตสเซียมวันละ 2 เม็ด และเพรดนิโซโลน 1 เม็ดวันเว้นวัน   

พี่พยาบาลให้คำแนะนำกับลูกสาวในการฝึกทำกายภาพบำบัดเบื้องต้น  ตอนนี้ยายอยากหาย อยากยืนได้  อยากกลับมาขายส้มตำได้เหมือนเดิม แต่ว่าตาก็มัว มองไม่ชัด เห็นหน้าคนเพียงลางๆ    

เฮ้อ แล้วจะทำอะไรได้...”  ยายอัมภา คงไม่ใช่คนเดียวที่ต้องทนทุกข์จากยาอันตรายเหล่านี้  และที่สำคัญที่สุดคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ของเรา เมื่อไหร่จะปฏิรูประบบการควบคุมกำกับยาเพื่อความปลอดภัยของคนไทยเสียที

หมายเหตุ การใช้สเตียรอยด์ในขนาดสูง ระยะเวลานานจะมีผลกดภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราได้ง่าย  นอกจากนี้ ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือโปแตสเซียมทางปัสสาวะมาก ผู้ที่มีระดับโปแตสเซียมต่ำมากอาจมีผลทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่มีแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล้ามเนื้อบริเวณต้นขาและแขน และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหยุดเต้นได้ ซึ่งเมื่อลดขนาดยาลงก็จะมีผลทำให้อาการดีขึ้น และต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะเป็นปกติ 

ผู้เขียน : ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย รพ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเล่า : ทุกข์จากยาไม่เหมาะสมในชุมชน (1)

เรื่องเล่า : ทุกข์จากยาไม่เหมาะสมในชุมชน (2) : บทเรียนความกตัญญู