ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จัดหลักสูตรอบรมพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน ยกระดับความปลอดภัย ป้องกันเกิดอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงาน เผยสถิติในรอบ 3 ปี รถพยาบาลฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุ 27 ครั้ง เจ็บ 119 ราย เสียชีวิต 18 ราย เฉลี่ยอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 15 สูงกว่ารถตู้ทั่วไปถึง 3 เท่าตัว

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.57 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดอบรมพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน (Thai Emergency Ambulance Driving Course) จากโรงพยาบาลในสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รุ่นแรก จำนวน 35 คน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และยกระดับมาตรฐานของพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน ให้สามารถนำส่งผู้ป่วยอย่างปลอดภัย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วย

โดย นพ.วชิระกล่าวว่า สธ.ได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถพยาบาลฉุกเฉิน ที่ใช้ในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง ประมาณ 2,500 คัน ซึ่งจากการประเมินพบว่ามีสภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานพร้อมปฏิบัติงาน แต่ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานรับส่งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินบ่อยครั้ง ในรอบเกือบ 3 ปีมานี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55-12 มิ.ย.57 สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน รายงานมีรถพยาบาลฉุกเฉินในสังกัดทั่วประเทศ เกิดอุบัติเหตุรวม 27 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 119 ราย เสียชีวิต 18 ราย อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 15 สูงกว่ารถตู้โดยสารทั่วไป 3 เท่าตัว แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพ ผู้ป่วย และญาติ จึงได้เร่งป้องกันแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ด้วยการจัดหลักสูตรอบรมพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉินโรงพยาบาลทุกแห่งให้เป็นมืออาชีพ เรียนรู้ ทั้งทฤษฎีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน การดูแลรักษา ตรวจเช็กความพร้อมของรถ กฎหมายจราจร การใช้วิทยุสื่อสาร เทคนิคการขับรถเชิงป้องกันอุบัติเหตุ และฝึกทักษะการขับรถในสถานการณ์ต่างๆ เพิ่มความคล่องตัวต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ยิ่งขึ้น

"ในระยะยาวร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตการขับขี่รถพยาบาลฉุกเฉินโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เคยมีใช้แต่ในต่างประเทศมีใช้แล้ว เช่น ที่อังกฤษ อเมริกา เป็นต้น โดยมาตรการนี้จะให้มีผลบังคับใช้กับรถพยาบาลฉุกเฉินในสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนรวมทั้งมูลนิธิกู้ภัย เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สร้างความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน สามารถนำผู้ป่วยส่งถึงมือแพทย์ยังโรงพยาบาลปลายทาง" นพ.วชิระ กล่าว

ด้าน นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่า สำนักสาธารณสุขฉุกเฉินได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ศึกษาและกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยรถพยาบาลฉุกเฉินในระบบการแพทย์ฉุกเฉินไว้ 7 ประการ ได้แก่

1. พนักงานขับรถพยาบาล ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการขับรถ พยาบาลที่เหมือนจริง มีใบขับขี่รถพยาบาลเท่านั้น มีการตรวจแอลกอฮอล์ในลมหายใจ และตรวจสารเสพติดในปัสสาวะก่อนขับ ผ่านการทดสอบสุขภาพจิต

2. พยาบาลที่ปฏิบัติงาน ต้องสามารถดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคหรือการบาดเจ็บของผู้ป่วยที่ส่งต่อได้

3. รถพยาบาลต้องมีโครงสร้างตัวถังรถที่แข็งแรง มีการตรวจเช็กสภาพรถ ติดตั้งจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัยที่ยึดกับตัวเบาะที่นั่ง หรือยึดกับตัวรถ

4. ติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) ประจำรถ เพื่อสามารถติดตามตำแหน่งพิกัดของรถพยาบาล และควบคุมความเร็วได้

5. การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อบ่งชี้ของการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการส่งต่อในช่วงเวลาไม่เหมาะสม

6. จำกัดความเร็วรถพยาบาลฉุกเฉินไม่เกินกฎหมายกำหนด ให้ยึดกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

7. ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน หากพบรถพยาบาลฉุกเฉินที่เปิดสัญญาณไฟ ขอให้หลีกทาง เพื่อให้รถพยาบาลส่งผู้ป่วยถึงมือแพทย์ยังโรงพยาบาลปลายทางปลอดภัยที่สุด