ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน - แพทย์ชี้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ หลักการดี แต่เนื้อหาตรงข้าม ทำแพทย์พยาบาลกลายเป็นแพะ ถูกยัดเยียดข้อหาจากคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการรักษามาโหวตผิดถูก แถมกำหนดโทษร้ายแรงกว่าเจตนาฆ่า-คอร์รัปชัน จวกเป็นกฎหมายประชานิยมไล่แจกเงิน เอาความรู้สึกผู้บริโภคเป็นเกณฑ์ แนะขยาย ม.41 ครอบคลุมทุกสิทธิแทนออกกฎหมายใหม่

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข คล้ายกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คือชื่อกฎหมาย หลักการและเหตุผลในการออกกฎหมายดูดี โฆษณาว่าไม่เอาผิดหมอ ไม่ฟ้องหมอ แต่จริงๆ แล้วเนื้อหาตรงกันข้าม ทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขต่อต้าน เพราะเอาคนที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล เช่น นักสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวผู้แสนดีสายสาธารณสุข (NGO) นักคุ้มครองผู้บริโภค มาพัฒนาความปลอดภัย มาโหวตถูกผิดด้วยเสียงข้างมาก ทำให้แพทย์และพยาบาลกลายเป็นแพะที่สามารถถูกยัดเยียดข้อหาพยายามฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่นได้ ซึ่งหากพิสูจน์ผิดถูกไม่ได้ก็ให้รีบจ่ายเงิน ซึ่งหลังจากจ่ายเงินและทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วยังสามารถฟ้องร้องต่อได้อีก เป็นการฉีกตำรานิติศาสตร์ ขัดหลักนิติธรรม ที่สำคัญโทษประมาทฐานช่วยคนอื่นไม่สำเร็จร้ายแรงยิ่งกว่าคดีเจตนาฆ่าหรือคอร์รัปชัน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีลักษณะเป็นประชานิยม เพราะเป็นการไล่แจกเงิน ผู้บริโภคมีสิทธิรับเงินโดยไม่ต้องพิสูจน์ผิดถูกจากการได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งเงินก้อนแรกจะได้หลายแสนบาทภายในไม่เกิน 2 เดือน ได้รับอีกล้านบาทภาย 2-3 เดือน นอกจากนี้ ยังเอาความรู้สึกของผู้บริโภคเป็นเกณฑ์ โดยขยายอายุความการฟ้องร้องแบบไม่มีอายุความ คือเพียงสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากการรักษาเมื่อ 10 กว่าปีก่อนก็สามารถฟ้องร้องได้ มีสิทธิรับเงินก้อนที่สาม และเมื่อเห็นว่าเงินก้อนที่ 2 อาจได้น้อยเกินไป ก็สามารถฟ้องศาลได้ทันที แต่หากฟ้องแล้วแพ้คือหมอไม่ผิด ก็ไม่ต้องคืนเงิน และอาจได้เงินเพิ่มจากกองทุนด้วย ที่สำคัญฟ้องฟรีไม่ต้องมีทนาย เพราะศาลบอกเป็นคดีว่าด้วยการบริโภค

"แพทย์พยาบาลที่ต้องทำงานช่วยชีวิตคนอื่นแบบหามรุ่งหามค่ำ กลายเป็นคนร้ายที่ก่อความเสียหายโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว จนต้องออกกฎหมายนำเงินภาษีไปจ่ายให้โดยไม่รู้ว่าทำผิดจริงหรือไม่ และจ่ายแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้กระบวนการรักษาปลอดภัยขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งผมเชื่อว่าร่างกฎหมายนี้คงผ่านสภายุคนี้ไม่ยาก เพราะคงยากที่จะหาใครมาอ่านครบทุกมาตรา กฎหมายแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับประชานิยมจำนำข้าว แจกแท็บเล็ต คือถูกใจทั้งผู้ให้ พอใจทั้งผู้รับ โดยไม่สนว่าระบบสาธารณสุขจะล่มจมเพราะการไล่แจกเงินโดยไม่ก่อประโยชน์ที่คุ้มค่า จะยิ่งทำให้การพัฒนาทำไม่ได้ ความเสียหายที่อ้างกันก็ยิ่งเกิด วนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบ" ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวและว่า อยากขอโอกาสในการชี้แจงต่อนายกฯ รองนายกฯที่กำกับดูแลด้านสาธารณสุข และ รมว.สาธารณสุข ในเรื่องนี้ โดยขอเสนอแนวทางออกโดยไม่ต้องตั้งกองทุนใหม่ แต่ควรขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ช่วยเหลือผู้ป่วยทุกสิทธิ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2557

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ปรียนันท์’ ยัน ‘นพ.เมธี’ บิดเบือน ให้ข้อมูลเท็จ สร้างความกลัวหาเสียงเลือกแพทยสภา