ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ออกแถลงการณ์ ยัน นพ.เมธี บิดเบือนข้อเท็จจริง เต็มไปด้วยอคติ โกหก และให้ร้าย ชี้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ช่วยแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างหมอกับผู้ป่วย คาดต้องการเอาสถานการณ์ความขัดแย้งแพทย์ผู้ป่วยมาเป็นประเด็นสร้างความหวาดกลัว หาเสียงเลือกแพทยสภา 17 พ.ย.นี้ วอนหยุดปลุกระดมสร้างความร้าวฉานให้สังคม เพื่อหวังผลหาเสียงการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา ชี้ถึงเวลาที่หมอกับคนไข้ต้องจับมือก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ใช่จ้องล้มพ.ร.บ.

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา

11 พ.ย.57 นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ไดเออกแถลงการณ์ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2557 โดยมีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจากที่ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ว่าร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข นั้นหลักการดี แต่เนื้อหาทำแพทย์พยาบาลกลายเป็นแพะ แถมกำหนดโทษร้ายแรงกว่าเจตนาฆ่า เป็นกฎหมายประชานิยมไล่แจกเงิน ฯลฯ นั้น

เครือข่ายฯ ได้อ่านแล้วก็รู้สึกเศร้าใจ แต่ก็เข้าใจได้ว่านพ.เมธีพูดเพื่อหาเสียง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ที่จะถึงนี้ และกลุ่มของ นพ.เมธีชูนโยบายล้มร่าง พ.ร.บ.ฯ จึงต้องการสร้างความตื่นกลัวในหมู่แพทย์ หวังผลให้ตนเองได้รับเลือกอีกครั้ง

เครือข่ายฯ ไม่ขอโต้ตอบทุกประเด็นที่ นพ.เมธีกล่าวหา เนื่องจากไม่ได้เป็นการติเพื่อก่อ แต่เป็นการพูดที่เต็มไปด้วยอคติ โกหก บิดเบือนข้อเท็จจริง และให้ร้ายร่าง พ.ร.บ. จนสีขาวกลายเป็นสีดำ ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกยกร่างขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ที่หวังดีต่อทั้งแพทย์และคนไข้ เนื้อหาก็เต็มไปด้วยคุณธรรมจริยธรรม เพื่อจะผดุงความสงบสุขของสังคม อีกทั้งที่ผ่านมาสังคมก็บอบช้ำมามากพอแล้ว จากความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้

ในความเป็นจริง มีแพทย์จำนวนมากลงชื่อสนับสนุนให้มีร่างพรบ. ผ่านแคมเปญของ www.change.org/injuryact ซึ่งเครือข่ายได้ยื่น 20,000 รายชื่อให้กับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมาแล้ว อีกทั้งการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาในครั้งนี้ ก็มีทีมที่ชูนโยบายให้มีการเยียวยาทั้งแพทย์และคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจาการรักษาพยาบาลอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า ใช่ว่าแพทย์ทุกคนจะต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แพทย์ที่ต้องการเห็นระบบที่มีคุณธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทยก็มีจำนวนไม่น้อย

เครือข่ายฯ อยากให้แพทย์ที่ยังต่อต้าน พ.ร.บ.ฉุกคิดว่า แม้แพทยสภาจะล้มร่าง พ.ร.บ. ไม่ให้เข้าสู่สภาฯ ได้ แต่แพทยสภาไม่สามารถหยุดคนไข้ให้ฟ้องคดีได้ อีกทั้งไม่สามารถช่วยลบชื่อแพทย์ออกจากคำฟ้องและคำพิพากษาได้ การมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่างหากที่จะช่วยแพทย์ได้จริง

หากนพ.เมธีกับพวก ห่วงใยแพทย์ด้วยความจริงใจ ไม่หวังแค่เอาความขัดแย้งเป็นประเด็นในการหาเสียงเพื่อให้ตนเองได้มีอำนาจเท่านั้น ก็ควรช่วยกันผลักดันให้มี พ.ร.บ. ส่วนเนื้อหาใดที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ ก็สามารถเข้าไปช่วยกันปรับแก้ได้อยู่แล้ว

คนไข้ต้องการให้มี พ.ร.บ. เนื่องจากไม่ต้องการฟ้องบุคลากรทางการแพทย์ ที่พวกเรารู้ดีว่าไม่มีใครตั้งใจทำให้เกิดความเสียหาย และวันหนึ่งเราก็ยังต้องพึ่งแพทย์ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราแค่ต้องการให้มีระบบมารองรับความเสียหาย อีกทั้งเงินก็เงินของคนไข้ที่ช่วยกันเองไม่ใช่เงินของแพทย์ ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะมอง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในแง่ร้าย

หากมีการฟ้องร้องมากขึ้น เหมือนที่เกิดขึ้นในอเมริกา จะทำให้แพทย์อยู่ไม่ได้ คนไข้ก็ไม่มีคนดูแล สังคมก็จะลำบาก การมี พ.ร.บ.จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ดีขึ้น เหมือนในประเทศทางยุโรปและนิวซีแลนด์และญี่ปุ่นก็กำลังมีการทดลองใช้ บ้านเราเวลานี้แพทย์รพ.เอกชนก็ซื้อประกันแพงขึ้น ส่วนแพทย์ภาครัฐก็ไม่มีอะไรคุ้มครอง พ.ร.บ.นี้จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรภาครัฐให้ทำงานได้สบายใจขึ้น ไม่ต้องพะวงว่าจะถูกคนไข้ฟ้อง ถ้าไม่ใช่ทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ส่วนการเสนอให้ขยายม.41 ให้ครอบคลุมคนไข้สิทธิอื่นด้วยนั้น เคยมีความพยายามทำในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาแล้ว เครือข่ายฯ ก็ไม่เคยขัด เข้าร่วมประชุมกับทุกภาคส่วนนานหลายเดือน ได้ข้อสรุปว่าทำไม่ได้ เพราะต้องมีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ คนไข้แต่ละสิทธิมีเงินกองทุนของตนเอง มีกฎหมายคนละฉบับที่ก้าวก่ายกันไม่ได้ นำเงินออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็ไม่ได้

ถ้าไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ แพทย์จะถูกฟ้องมากขึ้นเหมือนในอเมริกา ค่าเบี้ยประกันจะสูงมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข้ จึงขอวิงวอนแพทยสภา โปรดหยุดปลุกระดมตอกลิ่มสร้างความร้าวฉานให้สังคม อย่ามุ่งบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิด ๆ เพื่อหวังผลหาเสียงการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาที่จะมาถึง เหมือนนักการเมืองน้ำเน่าที่ประเทศชาติกำลังปฏิรูปทิ้ง ถึงเวลาที่หมอกับคนไข้ควรจับมือกันก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ใช่จ้องล้มพ.ร.บ. โดยไม่ฟังเหตุฟังผล ขณะที่แพทยสภาเองก็เป็นที่พึ่งให้สังคมไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสี่ยงยัดข้อหา'แพทย์-พยาบาล' อัดร่างกม.คุ้มครองผู้เสียหายฯโทษแรง