เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ทำหนังสือถึง รมว.สธ.ค้าน ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ ระบุทางออกที่ดีที่สุดคือ “ระบบเยียวยาผู้เสียหายโดยไม่ฟ้องหมอ” ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .. ซึ่งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ได้ร่วมกันลงชื่อสนับสนุนมากถึง 65,965 ชื่อแล้ว
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ได้ทำหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง คัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. ... ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้รับหนังสือของกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง ขอเชิญประชุมรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. .. ซึ่งเครือข่ายฯ ขอปฏิเสธการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น และขอคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. .. ตลอดจนขั้นตอนใด ๆ อันเป็นกระบวนการดำเนินการเพื่อให้มีการตรากฎหมายเกิดขึ้น ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ ทางออกที่ดีที่สุดคือ “ระบบเยียวยาผู้เสียหายโดยไม่ฟ้องหมอ” ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .. ซึ่งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ได้ร่วมกันลงชื่อสนับสนุนมากถึง 65,965 ชื่อแล้ว อีกทั้งท่านก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ว่า "เรื่องนี้ท่านนายกฯ ก็เห็นความสำคัญ จะพยายามออกให้ทันรัฐบาลนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนคนไทยทุกคน" เครือข่ายฯ จึงหวังว่าท่านจะเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .. ให้มีผลบังคับใช้ มากว่าจะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. .. ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการฟ้องร้อง ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก
2. กระทรวงสาธารสุขประกาศนโยบาย 2P Safety ซึ่งนโยบายนี้จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย ท่ามกลางบรรยากาศที่ปราศจากความขัดแย้ง ดังนั้นเครือข่ายฯ เห็นว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. .. นอกจากจะสร้างบรรยากาศความขัดแย้งให้มากขึ้นแล้ว ยังสวนทางและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างยิ่ง
3. คดีทางการแพทย์ แม้จะเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษ แต่เครือข่ายฯ เห็นว่ากฎหมายวิธีพิจารณาความที่ศาลใช้ในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ปิดกั้นการนำข้อเท็จจริงทางวิชาการของวิชาชีพเฉพาะเข้าสู่การพิจารณาของศาล คู่ความสามารถนำพยานผู้เชี่ยวชาญไปเบิกความนำสืบ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนได้อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่แต่อย่างใด
4. คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ตามมาตรา 13 เครือข่ายฯ เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจาก
4.1 คู่ความสามารถใช้สิทธินำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้เป็นปกติอยู่แล้ว
4.2 ที่มาของคณะกรรมการเป็นลักษณะตัวแทนฝ่ายวิชาชีพมากกว่า
4.3 ไม่มีหลักประกันใดว่าคณะกรรมการจะมีความเห็นประเด็นแห่งคดีโดยสุจริต
4.4 มีการจำกัดสิทธิการฟ้องร้องคณะกรรมการให้รับผิด โดยอ้างความสุจริตแม้ความเห็นจะไม่ถูกต้อง จะทำให้คณะกรรมการกลายเป็นอภิสิทธิ์ชน
4.5 ปัญหาเรื่องพยานผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ มิได้เป็นปัญหาต่อคู่ความฝ่ายผู้ให้บริการหรือฝ่ายวิชาชีพ แต่เป็นปัญหาของคู่ความฝ่ายผู้รับบริการมากกว่า ที่มีความลำบากในการจัดหาพยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความฝ่ายตน
4.6 คณะกรรมการจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากคู่ความฝ่ายผู้รับบริการ ซึ่งคิดว่าคงไม่ต่างไปจากปัญหาความน่าเชื่อถือ ในการพิจารณาข้อพิพาททางปกครองของสภาวิชาชีพ
5. มิได้บัญญัติเรื่องภาระการพิสูจน์ของคู่ความ เครือข่ายฯ เห็นว่า ในการให้การรักษาพยาบาล เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น พยานหลักฐานเดียวในที่เกิดเหตุคือเวชระเบียน แต่อยู่ในความรู้เห็นเฉพาะฝ่ายผู้ให้บริการแต่เพียงฝ่ายเดียว ผู้เสียหายแทบไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงหรือเข้าถึงด้วยความลำบากและยากจะเชื่อได้ว่าข้อมูลนั้นครบถ้วนถูกต้อง และหากผู้เสียหายต้องมีภาระพิสูจน์ประเด็นข้อพิพาทนั้น หนทางที่จะชนะคดีหรือได้รับความยุติธรรมแทบมองไม่เห็น เรื่องภาระการพิสูจน์น่าจะเป็นอีกประเด็นที่ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ ตั้งใจให้มีผลทางคดีที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนเองเท่านั้น
6. การชี้มูลความผิดทางปกครองของสภาวิชาชีพ ที่ขาดความน่าเชื่อถือจากประชาชน บางกรณีที่มีมติว่า “คดีไม่มีมูล” แต่เมื่อผู้เสียหายนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล ศาลกลับมีคำสั่งหรือคำพิพากษาคดีชี้ขาดให้ฝ่ายผู้เสียหายเป็นผู้ชนะคดี จึงน่าจะเป็นเหตุให้สภาวิชาชีพพยายามหาวิธีการใด ๆ เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเครือข่ายฯ เห็นว่าเป็นการก้าวล่วงการพิจารณาคดีของศาล อันอาจจะเป็นเหตุให้ศาลได้รับความเสียหายไปด้วย
เครือข่ายฯ จึงเรียนมายังท่าน ขอได้โปรดพิจารณายกเลิกกระบวนการ ตลอดจนขั้นตอนใด ๆ อันจะนำไปสู่การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีการแพทย์ พ.ศ. .. ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .. ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อประโยชน์สุขของสังคมโดยรวม เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อการยุติธรรมของศาลต่อไป
- 278 views