ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ผอ.รพ.ราชวิถี" ยอมรับ "แผนกยา" มีจนท.หญิงกว่า 90% หาก "ท้อง-ลาคลอด" จะกระทบต่อการทำงาน อ้างบริษัทเอกชนบางแห่ง ถึงขั้นเลิกจ้าง แต่พร้อมยินดีชี้แจงทุกหน่วยงาน ด้าน "อธิบดีกรมการแพทย์" กำชับ รพ.ในสังกัด ระวังเรื่องการสื่อสาร

11 พ.ย.57 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า จากกรณีที่แผนกยา ของ รพ.ราชวิถี ได้ออกประกาศห้ามเจ้าหน้าที่หญิงประจำแผนกดังกล่าวตั้งครรภ์ ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.2557 – 31 ธ.ค. 2558 โดยให้เจ้าหน้าที่หญิงรับประทานยาคุมกำเนิด หากเกิดการตั้งครรภ์ขอให้ลาออกไป และข่าวดังกล่าวได้เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่าน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในเวลาต่อมา นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี ได้ออกมาขอโทษ พร้อมกับได้สั่งให้ยกเลิกประกาศความร่วมมือฉบับดังกล่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด นพ.อุดม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันในสถานที่ทำงานส่วนใหญ่มีสัดส่วนของบุคลากรหญิงประมาณ 60-70% และตามกฎหมายอนุญาตให้ลาคลอดได้ 3 เดือน บางหน่วยงานอนุญาตให้ลาเลี้ยงลูกได้อีก 3 เดือน รวมระยะเวลาที่ลางานเป็น 6 เดือน ถ้าพูดภาพรวมของทุกหน่วยงานแล้ว หากเจ้าหน้าที่หญิงตั้งครรภ์และลาคลอดพร้อมกันหลายคน ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงาน คนที่เหลืออยู่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้น แต่ตรงนี้ก็ต้องมาแก้ไขปัญหากันภายในของแต่ละหน่วยงานเอง หากเปรียบเทียบกับภาคเอกชนบางแห่งจะเลิกจ้างพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์เลยด้วยซ้ำ เพราะว่าเสียงาน เสียรายได้

นพ.อุดม กล่าวอีกว่า สำหรับ รพ.ราชวิถีเอง ก็มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่หญิงประมาณ 60-70% เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะแผนกยามีสัดส่วนถึง 80-90% ในปีหนึ่ง ๆ รพ.มีคนลาคลอดเยอะ เพราะฉะนั้นการตั้งครรภ์และลาคลอด ย่อมมีผลต่อการจัดการกับภาระงาน แต่ก็สามารถปรับตัวกันได้ด้วยการรับเจ้าหน้าที่เพิ่ม หรือจัดหาเพื่อนมาอยู่แทน เป็นต้น ทุกหน่วยงานก็เป็นเช่นนี้ แต่กรณีประกาศที่เป็นประเด็นขึ้นมานั้น แผนกยาอาจจะเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่หญิงลาคลอดกันเยอะ กระทบต่อการทำงาน เลยขอความร่วมมือด้วยวิธีดังกล่าว แต่สื่อสารไม่ถูกต้อง เลยดูไม่เหมาะสม

“กรณีที่มีการท้วงติงหรือแม้แต่หน่วยงานต่างๆ ที่ทำหนังสือถึงรพ.ราชวิถีนั้นก็ไม่ได้ว่าอะไร ทาง รพ.ยินดีไปชี้แจงตามความเป็นจริง เพราะเราไม่ได้ไปคดโกงใคร รพ.ราชวิถีเป็นองค์กรของรัฐ ยินดีให้ตรวจสอบ เราไม่ได้บกพร่องต่อหน้าที่จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเลย เป็นเพียงความผิดพลาดในการสื่อสาร” นพ.อุดม กล่าว

ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนได้หารือกับ นพ.อุดมถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วว่าเนื่องจากในแผนกยาของ รพ.มีคนตั้งครรภ์และลาออกหลายคน ทำให้คนทำงานไม่พอ จึงตกลงกันว่าจะสลับกันตั้งครรภ์ แต่มีการสื่อสารผิดพลาดจนเกิดความไม่พอใจภายใน และถูกนำไปเชื่อมโยงกับความขัดแย้งอื่นๆ อีก อย่างไรก็ตามตรงนี้ตนได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดให้ระมัดระวังเรื่องการสื่อสารกันให้เข้าใจ ทั้งนี้ยืนยันว่า กรมการแพทย์ และ รพ.ในสังกัดกระทรวงฯ ไม่มีนโยบาย และไม่มีประกาศสั่งห้ามตั้งครรภ์อย่างแน่นอน ขอให้ทุกคนเข้าใจ.