ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แนะ "ดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวาน" ไม่ให้เสี่ยงพิการ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานนาน ร่วมกับเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เหตุผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดแผล มีโอกาสแผลลุกลามและเรื้อรัง นำไปสู่การตัดขาในที่สุด ในผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดพบว่าร้อยละ 15 มีประสบการณ์การเกิดแผลที่เท้า

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สําคัญ ในศตวรรษที่ 21 พบผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลก 371 ล้านคน และคาดว่าปี พ.ศ.2573 จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 500 ล้านคน สําหรับประเทศไทย ปี 2555 พบผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั้งหมด 7,749 คน หรือเฉลี่ย   วันละ 22 คน คิดเป็นอัตราตายด้วยโรคเบาหวาน 12.06 ต่อแสนประชากร โดยสาเหตุของโรคเบาหวาน เกิดจากการทำงานของตับอ่อนในการผลิตฮอร์โมนอินซูลินบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดได้ แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ 1) ชนิดที่พึ่งอินซูลิน เป็นเบาหวานชนิดที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงและอันตรายสูง พบในเด็กและวัยรุ่น อายุน้อยกว่า 25 ปี ในประเทศไทยพบน้อยกว่า 5% ของประชากร 2) ชนิดที่ไม่พึ่งอินซูลิน ในประเทศไทยพบมากกว่า 95% ซึ่งมักจะมีความรุนแรงน้อย พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป และมีอัตราการป่วยที่เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนอายุ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เบาหวานชนิดที่ 2 นี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดงออกของโรคเลย หรืออาจจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป จนถึงขั้นแสดงอาการรุนแรงหรือหมดสติและเสียชีวิตได้

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักพบภาวะแทรกซ้อนตามระบบและอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้น การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาและวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานตั้งแต่ระยะแรกก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยสูญเสียอวัยวะต่างๆได้ โดยให้ผู้ป่วยสังเกตความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะเท้า ที่เป็นอวัยวะสำคัญสำหรับทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดิน ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงหรือได้รับบาดเจ็บได้ โดยสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดแผลที่เท้า ได้แก่ การที่เส้นเลือดส่วนปลายที่มาเลี้ยงขาและเท้าตีบ ในกรณีที่เป็นเบาหวานมานานร่วมกับมีการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้มีโอกาสเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดที่บริเวณแผล จึงมีโอกาสเกิดการลุกลามและเรื้อรังของแผล นำไปสู่การตัดขาในที่สุด ในผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดพบว่าร้อยละ 15 มีประสบการณ์การเกิดแผลที่เท้า และในผู้ป่วยที่มีแผลที่เท้าร้อยละ 14 - 24 ต้องถูกตัดขา ดังนั้นการป้องกันการเกิดแผลที่เท้า จะช่วยลดอัตราการตัดขา ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดภาระครอบครัว และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลระยะยาว

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากพฤติกรรมของการดำเนินชีวิตประจำวัน ระยะเวลาในการเป็นเบาหวานนานกว่า 15 ปี ผู้ป่วยที่ควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดได้ไม่ดี โดยจะมีผลต่อความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคลดลง   ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ได้แก่ ภาวะทางหัวใจ ทางสายตามีปัญหาการมองเห็น และทางไต มีความผิดปกติของเส้นประสาทและเส้นเลือดส่วนปลาย ได้แก่ การชาปลายมือ ปลายเท้า ทำให้ประสาทสัมผัสการป้องกันการเกิดแผลเสียไป เท้าผิดรูป ทำให้การลงนํ้าหนักที่เท้าผิดปกติ การสูบบุหรี่ มีผลทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน เคยมีประวัติการเกิดแผลที่เท้ามาก่อน พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วย เบาหวานที่เคยมีแผลที่เท้ามาก่อน มีโอกาสการเกิดแผลที่ตำแหน่งเดิมภายในระยะเวลา 2 - 5 ปี

สำหรับวิธีดูแลเท้า คือ อย่าเดินเท้าเปล่า เวลาออกนอกบ้านหรือเดินบนพื้นที่สกปรก เพราะถ้าเหยียบถูกของมีคม หนามแหลมหรือของร้อน จะเป็นแผลแบบไม่รู้ตัว การตัดเล็บเท้า ควรตัดออกตรงๆ อย่าตัดโค้งหรือตัดถูกเนื้อ ถ้าเป็นหูดตาปลา หรือตุ่มน้ำที่เท้า อย่าพยายามแกะหรือตัดออกด้วยตัวเอง ไม่ควรใช้เข็มบ่งตุ่มพองเอง หรือใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนหรือไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ชะแผล ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซและพลาสเตอร์อย่างนิ่ม อย่าปิดด้วยพลาสเตอร์ธรรมดา หลังจากทำกิจกรรมต่างๆทุกครั้ง ผู้ป่วยควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ เช็ดให้แห้งโดยเฉพาะตรงซอกเท้า ห้ามถูแรงๆอย่าสวมรองเท้าหรือถุงเท้ารัดแน่นเกินไป และหากพบอาการผิดปกติบริเวณเท้า เช่น  สีของเท้าเปลี่ยนแปลง รู้สึกเจ็บปวด ไม่สบายเท้า ผิวหนังที่เท้าแตก หรือมีนํ้าเหลืองไหล เท้าบวม ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด เพราะหากเข้ารับการรักษาล่าช้าและไม่ถูกวิธีอาจถึงขั้นต้องตัดขาทิ้ง