ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อีกไม่นานเกินรอ เด็กออทิสติกจะมีหุ่นยนต์เพื่อนเล่น ที่มีความสามารถพิเศษเป็นผู้ช่วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วผลงานของ ผศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อตรวจระดับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสำหรับเด็กออทิสติก อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์ที่จะทำหน้าที่หลักในการช่วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสร้างโอกาสพัฒนาเด็กออทิสติกผ่านการเล่น ให้มีพัฒนาการทางสังคมเร็วและดียิ่งขึ้น

ผศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์

ปัจจุบัน มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดผู้ป่วยออทิสติก รวมถึงเจ้าหน้าที่พยาบาล ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับการพบแพทย์ของผู้ป่วยแต่ละคนใช้ระยะเวลาในการักษาที่ค่อนข้างนาน และยังใช้ความใส่ใจกับผู้ป่วยสูง ไม่สามารถบริหารเวลาได้แน่นอนขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยออทิสติกที่รอรับการบำบัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โครงการฯ จึงได้ร่วมมือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นทั้งของเล่น เพื่อนเล่น และเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการทางสังคมของเด็กออทิสติกสำหรับแพทย์ได้ด้วย

ผศ.ดร.บุญเสริม กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการทำหุ่นยนต์ต้นแบบขึ้นมา ชื่อว่า “น้องเพื่อนใหม่” โดยมีนายอานนท์ หลีกภัย และนายธนัช กิติสุข 2 นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. พัฒนาขึ้น โดยออกแบบรูปร่างภายนอกน้องเพื่อนใหม่ให้สวยงามดึงดูดความสนใจของเด็ก เนื่องจากเด็กออทิสติกมักไม่ชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่สบตาคน และมักไม่ให้ความร่วมมือกับแพทย์สักเท่าไหร่ ทำให้แพทย์ต้องใช้เวลามากในการรักษา ดังนั้นการดึงดูดความสนใจของเด็กจึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญ นอกจากนี้ยังมีแสง สี เสียง รวมถึงการเคลื่อนที่ เพื่อช่วยการดึงความสนใจ เมื่อนำน้องเพื่อนใหม่ไปทดสอบกับเด็กออทิสติกในโรงพยาบาล และสัมภาษณ์ผู้ปกครอง พบว่า เด็กสนใจเล่นกับหุ่นยนต์มากเมื่อเทียบกับของเล่นอื่น ๆ และน่าจะใช้ช่วยสร้างพัฒนาการได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์ดังกล่าวยังต้องพัฒนาให้สามารถทนทานต่อการเล่นที่รุนแรงได้ โดยขณะนี้หุ่นยนต์อยู่ระหว่างการปรับปรุงและออกแบบให้หุ่นยนต์เหมาะกับการบำบัดมากขึ้น

“จากคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและการนำเจ้าหุ่นยนต์น้องเพื่อนใหม่ไปทดลองจริง ทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องลักษณะการเล่นของเด็ก ความสนใจของเด็กต่อหุ่นยนต์เป็นอย่างไร เช่น เราลองควบคุมเปิดปิดไฟเป็นรูปแบบต่างๆ ให้หุ่นยนต์วิ่งไปรอบๆ ตัวเด็ก เดินหน้าถอยหลัง ออกเสียง กระพริบตา ทำหลายๆ ครั้งจนพบว่า แสงสีไม่ค่อยดึงดูดความสนใจมากนัก แต่เสียงกับการเคลื่อนที่นั้นกลับมีผลต่อความสนใจของเด็กมากกว่า เราจึงนำข้อสังเกตจากการทดลองนี้ มาปรับปรุงแนวคิดว่าหุ่นยนต์น้องเพื่อนใหม่ควรจะมีกิจกรรมแบบไหน โดยจะเน้นไปที่การใช้หุ่นยนต์เป็นสื่อกลางในการบำบัดของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้เด็กหันมาสนใจปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ เนื่องจากเด็กออทิสติกจะมีลักษณะพิเศษ 3 อย่างที่คล้ายๆ กันคือ ไม่มองตาเวลาพูดคุย ชอบเอาของมาเรียงเป็นรูปแบบซ้ำๆ และมีพัฒนาการเรื่องภาษาที่ช้ากว่าปกติ ซึ่งอาจจะด้วยความที่ไม่ค่อยชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเท่าไหร่ ดังนั้นหุ่นยนต์จะต้องดึงดูดความสนใจของเด็กก่อน แล้วหุ่นยนต์ค่อยทำกิจกรรมบำบัดผ่านการเล่น ชักชวนให้เด็กค่อยๆ ทำตามกฎในการเล่น ทำให้เขาสามารถเรียนรู้กฎเกณฑ์ เพื่อนำมาใช้ในการเข้าสังคมให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น ประสิทธิภาพของการบำบัดจะขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ใช้ ดังนั้นเราจะต้องออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมขึ้นมา” ผศ.ดร.บุญเสริม กล่าว

คาดว่าประมาณต้นปี 2558 หุ่นยนต์ตัวล่าสุดจะเสร็จและนำไปมอบให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กออทิสติกใช้ในโรงพยาบาลของรัฐ โดย ผศ.ดร.บุญเสริม เผยว่าจะสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบขึ้นมาจำนวน 6 ตัว เพื่อใช้ในการบำบัดและวิจัยปรับปรุงประสิทธิภาพในการบำบัดให้ดีขึ้นก่อนที่ จะสามารถผลิตขึ้นมาให้เพียงพอต่อจำนวนเด็กออทิสติกที่รอรับการรักษา อย่างไรก็ตามแม้การรอคอยจะยาวนาน แต่การพัฒนาแนวคิดและไอเดียการออกแบบหุ่นยนต์สำหรับบำบัดเด็กออทิสติ กของอาจารย์และนักศึกษา มจธ. ก็ยังไม่หยุดนิ่ง

ล่าสุด นายขจรวุฒิ อุ่นใจ นักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ร่วมกับ ผศ.ดร.บุญเสริม นำเสนอแนวคิดหุ่นยนต์เสริมกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในการประกวดแข่งขันแนวคิดเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อการแพทย์หรือสุขภาพ (i, MedBot 2014: Bring Life, Brighten the World) จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2557

“แม้เด็กรุ่นใหม่จะสนใจมาเรียนรู้ในเรื่องการออกแบบหุ่นยนต์มากขึ้น แต่เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์เพื่อเด็กออทิสติกแล้วหลายคนแทบจะเบือนหน้าหนีเพราะด้วยความต้องเอาใจใส่ในการทดสอบทดลองจริงกับเด็กออทิสติก ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามสูง ทำให้การพัฒนาหุ่นยนต์เป็นไปอย่างล่าช้า และขาดความต่อเนื่อง” ขจรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง