ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 50 คน ในฐานะตัวแทน 37 องค์กรสาธารณสุข ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จี้สธ. แก้ไขตัวเลขคนไร้สถานะที่จะได้รับสิทธิรักษาให้ถูกต้อง พร้อมเร่งนำเสนอครม.พิจารณาทันที ไม่ต้องรอเสนอพร้อมแผนยุทธศาสตร์ ชี้ยิ่งเสนอช้ายิ่งสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน มีผู้ป่วยที่ยังรอสิทธิการรักษา ทั้งคนไร้สถานะที่ป่วยเป็นโรคไต ยันเห็นด้วยกับแผนยุทธศาสตร์ภาพรวม แต่ขอให้มีส่วนร่วมจากประชาชนด้วย ส่วนสธ.นัดหารือ 23 ก.พ.ยังไม่ทราบเรื่อง แต่ยืนยันข้อเสนอเดิม แก้ไขตัวเลขให้ถูกต้อง และเสนอครม.ทันที

17 ก.พ.58 ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย อาทิ ชนเผ่าดาระอั้ง ไทยใหญ่ คะฉิ่น ลาหู่ กะเหรี่ยง ประมาณ 50 คน ซึ่งเดินทางมาจาก จ.เชียงราย ในฐานะตัวแทน 37 องค์กรด้านสาธารณสุข พร้อมทั้งเครือข่ายคนไร้บ้าน และเครือข่ายผู้ป่วยไต ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี นายสาธิต สุทธิเสริม นิติกรชำนาญการ ศูนย์บริการประชาชนเป็นผู้รับเรื่อง โดยหนังสือดังกล่าวเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขจำนวนกลุ่มคนไร้สถานะที่จะได้รับสิทธิรักษาพยาบาล ตามกองทุนคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับกลุ่มบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 ให้ถูกต้อง และเร่งนำเสนอเข้าครม.ทันที โดยไม่ต้องรอแผนยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่

นายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมายื่นหนังสือวันนี้ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กำกับติดตามให้ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. แก้ไขตัวเลขกลุ่มคนไร้สถานะที่จะเสนอเพิ่มเข้าไปในกองทุนคืนสิทธิสาธารณสุขตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 ให้ถูกต้อง เนื่องจากตัวเลขเดิมที่ สธ.จะนำส่งให้ครม.พิจารณานั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และทำให้คนไร้สถานะกว่า 3.8 หมื่นคนตกหล่น ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว และเมื่อแก้ไขแล้ว ให้เร่งนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.ทันที ไม่ต้องรอเข้าพร้อมกับแผนยุทธศาสตร์ เพราะจะทำให้ล่าช้า

“ยังมีคนไร้สถานะจำนวนหนึ่งที่เจ็บป่วย ต้องรอคอยการรักษา ยิ่งเสนอช้า ก็ยิ่งสร้างความเสียหาย ในส่วนของเครือข่ายผู้ป่วยไต ก็มีผู้ป่วยไตที่รอการฟอกเลือกแต่เป็นคนไร้สถานะที่ยังไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล หาก สธ.รอเสนอเข้าครม.พร้อมแผนยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ชัดเจน ก็จะยิ่งช้า และทำให้พวกเราได้รับความเดือดร้อนมากไปอีก” นายวิวัฒน์ กล่าว

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ต่อประเด็นที่ นพ.สมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการพูดคุยเพื่อสรุปข้อเสนอให้ชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 23 ก.พ.นั้น จนถึงขณะนี้ทางเครือข่ายฯ ยังไม่ได้รับการประสานงานจากสธ.แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ และ 37 องค์กรฯ ยืนยันตามข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นให้กับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ หาก สธ.มีความจริงใจและเห็นใจประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจริง ก็ควรแก้ไข และเร่งนำเสนอเข้าสู่ครม.โดยเร็ว ส่วนแผนยุทธศาสตร์ฯ นั้น ทางเครือข่ายเห็นด้วย แต่ขอให้ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และนำเสนอเข้าครม.ทีหลัง เพราะยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เป็นเรื่องหลักการ แต่เรื่องที่ทำได้คือเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลต้องทำโดยเร็ว

“เวลาที่ยิ่งช้าไป ก็มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราเช่นกัน นี่ไม่ใช่เรื่องใจร้อน แต่เป็นเรื่องที่คุยกันมาแล้ว และทางสธ.ดำเนินการช้าเกินไป โดยไม่คิดถึงชีวิตของประชาชนที่ต้องรอคอยในเรื่องนี้”  นายวิวัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายสุพจน์ หลี่จา เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา กล่าวว่า ยืนยันว่าตัวเลขอีก 3.8 หมื่นคน ได้มาจากกรมการปกครอง ซึ่งเป็นตัวเลขอัปเดต ที่สำคัญคนกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของคนกลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ประเภททะเบียนราษฎร์ ทร.38 ก โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 8 และ 9 ซึ่งเป็นคนรอพิสูจน์สถานะ ถือเป็นคนไทยที่รอเลขบัตรประจำตัวประชาชน พวกเขาสมควรได้รับสิทธิด้วย ซึ่งที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้แม้จะได้รับการดูแลจากโรงพยาบาล แต่ต้องยอมรับว่ายังมีกลุ่มที่หวาดกลัว เพราะตัวเองไม่มีสิทธิใดๆ จึงกังวลว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งพวกเขาไม่มีเงิน ก็จะทนทุกข์ทรมานกับโรค บางคนป่วยมากก็อาจเกิดการระบาดไปยังคนอื่น สุดท้ายก็ลุกลามมายังคนไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ กล่าวว่า ตัวเลข 3.8 หมื่นคนเป็นข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ของกรมการปกครอง ที่สำรวจและยืนยันแล้วว่าเป็นคนไทย ตามกฎหมายก็ต้องเป็นเช่นนั้น คือพ่อแม่เป็นคนไทย ลูกที่เกิดมาก็ต้องเป็นคนไทย ส่วนที่ สธ.บอกยังไม่ยืนยันสถานะ ไม่เข้าใจว่าจะให้มีการยืนยันในประเด็นไหน เนื่องจากการพิสูจน์สถานะไม่ใช่หน้าที่ของ สธ. เพราะมีข้อตกลงกันอยู่แล้วว่าตัวเลขเหล่านี้ให้ยึดตามตัวเลขของกรมการปกครอง จึงไม่อาจยอมรับตัวเลขของ สธ.ได้ และการดึงตัวเลขนี้ออกมา 3.8 หมื่นคน เราเลยรู้สึกว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงเสียสิทธิไปทั้งๆ ที่เขาควรได้รับการคุ้มครองตามมติ ครม. เราต้องการคำตอบที่ชัดเจนว่าเหตุผลที่จะไม่ขยายมติ ครม.ให้ครอบคลุมคนกลุ่มนี้เหตุผลเพราะอะไร