ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลสำรวจข้อมูลผู้กู้เงิน กยศ.กลุ่มที่ไม่ชำระหนี้ พบว่า ผู้ที่จบสาขาแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข มีอัตราการค้างชำระหนี้สูงถึง 50%  ทั้งเป็นวิชาชีพ ที่ไม่น่าจะมีปัญหาด้านการเงิน เพราะมีรายได้ค่อนข้างดี หรือไม่น่าจะตกงาน แต่จะต้องศึกษาหาสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้ง

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า นายเปรมประชา ศุภสมุทร ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมาย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า การประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ เพื่อรวมกฎหมาย กยศ.และ กรอ.ให้เป็นฉบับเดียวกัน คาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ระหว่างการจัดทำกฎหมายกองทุนเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่วมกันระหว่าง กรอ.กับ กยศ. เพื่อประสานการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก กรอ.จะให้เงินกู้กับนักศึกษาในสาขาเฉพาะสาขาวิชาที่มีความจำเป็น หรือสาขาวิชาที่ กรอ.กำหนด ขณะที่ กยศ.จะให้เงินกู้นักศึกษาทั่วไป การประสานงานจะช่วยให้มีการเชื่อมโยงข้อมูล สามารถดูแลนักเรียน นักศึกษา ในรูปแบบเดียวกัน ทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถผลิตแรงงานในสาขาที่ขาดแคลนได้ เช่น วิทยาศาสตร์ แพทย์ คอมพิวเตอร์ และอาชีวะหลายสาขา

นายเปรมประชา กล่าวว่า ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่ ควรเพิ่มการจัดตั้งอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ การพัฒนากำลังคน มีหน้าที่ศึกษาแนวโน้มสาขาวิชาที่มีความต้องการในตลาดแรงงาน รวมทั้งให้มีการสร้างกลไกให้นักศึกษาหรือผู้กู้เงินจากกองทุนเพื่อการศึกษามีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบในการชำระหนี้

ทั้งนี้ จากสำรวจข้อมูลผู้กู้เงิน กยศ.กลุ่มที่ไม่ชำระหนี้ พบว่า ผู้ที่จบสาขาแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข มีอัตราการค้างชำระหนี้สูงถึง 50% ทั้งที่เป็นวิชาชีพ ที่ไม่น่าจะมีปัญหาด้านการเงิน เพราะมีรายได้ค่อนข้างดี หรือไม่น่าจะตกงาน แต่จะต้องศึกษาในรายละเอียดอีกครั้งถึงสาเหตุที่ผู้จบสาขานี้มีอัตราไม่ชำระหนี้สูง หากเป็นเรื่องจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบ ก็ต้องเร่งสร้างจิตสำนึก

สำหรับผู้ที่จบการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ พบว่ายังมีอัตราค้างชำระหนี้ประมาณ 50% เช่นกัน โดยสำรวจพบว่า มีสาเหตุจากตกงาน มีรายได้น้อย ต้องแบกรับภาระในครอบครัว และไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ ส่วนผู้ที่จบระดับ ปวช. ปวส. มีอัตราการค้างชำระสูง 70% ซึ่งจะต้องศึกษารายละเอียดว่า กลุ่มนี้มีการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหรือไม่ หรือไม่สามารถหางานทำได้ มีรายได้ไม่พอ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากแยกตามประเภทของสถาบันการศึกษาพบว่าผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาเอกชน มีอัตราการค้างชำระหนี้ 60% สูงกว่าผู้จบการสถาบันการศึกษาของรัฐ ที่มีอัตราการค้างชำระหนี้ 50%

เรื่องที่เกี่ยวข้อง