ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : กลุ่มแพทย์ร้องกระทรวงยุติธรรม สอบปมบริหารงบ สปสช. หวั่นไม่โปร่งใส-ทำ รพ. หลายแห่งขาดสภาพคล่องนับหมื่นล้านบาท ด้านเลขาฯ ป.ป.ท.พร้อมรายงานความคืบหน้าต่อ "ไพบูลย์" สัปดาห์หน้า ขณะ สนช.ถกแก้ปัญหาค่ารักษารพ.เอกชนแพง "รัชตะ" ชู 3 แนวทางแก้ปัญหา คาดสัปดาห์หน้าได้ข้อสรุป

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์แนวหน้า

นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป พร้อมด้วยตัวแทน ผอ.โรงพยาบาลศูนย์ต่าง ๆ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) เพื่อขอให้เร่งรัดและกำกับการตรวจสอบการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.) ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส

นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ฯ มีความเป็นห่วงหลังคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ออกมาระบุถึงการใช้งบประมาณที่อาจผิดประเภท ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ทำให้ประชาชนขาดโอกาสและไม่ได้รับประโยชน์ตามสมควร ทั้งที่ สปสช.มีเงินหมุนเวียนแต่ละปีกว่า 140,000 ล้านบาท แต่เงินไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท กลับถูกจัดสรรไปใช้จ่ายในส่วนที่เห็นว่าไม่จำเป็น เท่ากับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากค่าหัวในการรักษาที่อาจเพิ่มขึ้น เช่น การจัดสรรไปให้มูลนิธิต่างๆ การทำวิจัย รวมถึงการจัดสรรให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้จากการบริการที่ไม่โปร่งใสทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งขาดสภาพคล่องเป็นตัวเลขสูงถึง 10,000 ล้านบาท

ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ในฐานะตัวแทนรับเรื่อง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ป.ป.ท.อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารงานของ สปสช. โดยสัปดาห์หน้าจะรายงานความคืบหน้าการตรวจสอบต่อที่ประชุม ศอตช. ซึ่งมี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน เนื่องจากการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวดำเนินการในนาม ศอตช.

ขณะที่ในประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธาน วันเดียวกัน ที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระกระทู้ถามของ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ที่ได้ตั้งกระทู้ถามทั่วไป เรื่อง  นโยบายรัฐบาลในการควบคุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริงของโรงพยาบาลเอกชน โดยถามนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะมีการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข  และสุขภาพของประชาชน แต่พบว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าบริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่สูงเกินจริงเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้นเพื่อสอดรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้เอกชนต้องลงทุนและควบรวมกิจการ ไปจนถึงการดึงตัวหมอมาจากภาครัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนในราคาที่สูงจึงทำให้ราคาค่ารักษาถีบตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน  ปัจจุบันประเทศไทยยังต้องการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ในอาเซียน แต่หากค่ารักษาพยาบาลมีราคาแพงเกินไป  อาจทำให้ผู้ป่วยต่างชาติไม่เดินทางมารักษาในประเทศ และต้องสูญเสียรายได้ปีละหลายแสนล้านบาท จึงอยากสอบถามว่ารัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร

นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ชี้แจงว่า ปัญหาดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้แสดงความห่วงใย ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และสรุปถึงสาเหตุราคาค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาจากต้นทุนค่าใช้จ่ายทางเทคโนโลยีการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น การพัฒนายาใหม่ ต้นทุนการควบคุมความเสี่ยง ต้นทุนที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นตามระดับมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง

อย่างไรก็ตาม  รัฐบาลมีความเข้าใจดีว่าต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นเรื่องที่เอกชนต้องแบกภาระไว้ ดังนั้น  รัฐบาลก็ไม่ได้มีนโยบายว่าจะต้องทำให้ราคาของโรงพยาบาลเอกชนต้องมีราคาแบบเดียวกันของโรงพยาบาลในภาครัฐแต่อย่างใด

ส่วนการแก้ไขปัญหานั้น นพ.รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดแนวทางดังนี้ 1.ตั้งคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงของภาคเอกชน  2.ยาเป็นสินค้าควบคุมตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2558 โดยโรงพยาบาลเอกชนจะต้องมีแนวทางในการกำหนดสัดส่วนของกำไรและการบริหารจัดการราคายาให้มีความเหมาะสมกับต้นทุน ซึ่งในแต่ละโรงพยาบาลจะมีราคาแตกต่างกันได้  แต่ต้องประกาศราคาให้ประชาชนได้รับทราบตามกลไกของตลาด ประชาชนสามารถซื้อยานอกโรงพยาบาลได้ไม่จำเป็นต้องซื้อยาในโรงพยาบาลเอกชน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีข้อสรุปและแนวทางแก้ไขปัญหาออกมาภายในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้  กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งทำเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลได้  เพื่อสื่อสารให้ประชาชนตรวจสอบราคาก่อนทำการรักษา

และ 3.ประชาชนสามารถซื้อยานอกโรงพยาบาลได้ไม่จำเป็นต้องซื้อยาในโรงพยาบาลเอกชน โดยคณะณะกรรมการชุดนี้จะมีข้อสรุปและแนวทางแก้ไขปัญหาออกมาภายในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งทำเว็บไซต์เพื่อให้ ประชาชนตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลได้ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนตรวจสอบราคาก่อนทำการรักษา

"ยืนยันมาตรการทั้งหมดจะเป็นการคุ้มครองให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเป็นธรรม และมีความเหมาะสมภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรี ทั้งนี้ ยอมรับว่าหากค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยลด น้อยลง แม้ว่าในภาพรวมค่ารักษาพยาบาลของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศยังต่ำกว่า ประมาณ 3 เท่าก็ตาม" นพ.รัชตะ กล่าว

ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาราคายาที่มีราคาสูงส่วนหนึ่งมาจากการที่ยาบางประเภทมีสิทธิบัตรยาคุ้มครองอยู่ ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้มาตรการ Compulsory Licensing (การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา) เพื่อเจรจากับเจ้าของสิทธิบัตรเพื่อให้ลดราคายาลงมา โดยที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการมาได้ด้วยดี แต่การใช้มาตรการนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังและจำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางการค้าในวงกว้าง เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในบัญชีPriority Watch Listของสหรัฐอเมริกา (กลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา) โดยมีสาเหตุมาจากการบังคับใช้สิทธิที่ผ่านมา

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 มิถุนายน 2558