กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับ ม.ธรรมศาสตร์ โดย รพ.พระนครศรีอยุธยาและวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ เตรียมผลิตแพทย์นานาชาติหลักสูตร 7 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารส่งแพทยสภาประเมินหลักสูตร คาดเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ.2561
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และ รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา คณะบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์)
นพ.เจษฎา ให้สัมภาษณ์ว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ จะร่วมกันพัฒนางานด้านการแพทย์ให้เจริญก้าวหน้า โดยพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน ทั้งการส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ส่งเสริมบรรยากาศและสร้างสภาวะแวดล้อมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การวิจัย กิจกรรมต่าง ๆ ของทั้ง 2 หน่วยงานและจัดสถานพยาบาลเป็นที่ฝึกปฏิบัติของนักศึกษาตามหลักสูตรของวิทยาลัยฯ
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ความร่วมมือดังกล่าว จะครอบคลุมถึงความร่วมมือทางด้านวิชาการ การผลิตบุคลากรทางการแพทย์หลักสูตรต่างๆ เริ่มต้นจากหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ซึ่งเป็นหลักสูตรอินเตอร์เนชันแนลโปรแกรมผลิตนักศึกษาแพทยศาสตร์ที่เป็นคนไทย ให้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศ หลักสูตร 7 ปี ถือว่าเป็นครั้งแรกของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรนี้ โดยจะเรียนชั้นปีที่ 1 – 3 ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ และฝึกปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา
ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมส่งหลักสูตรให้ทางแพทยสภาประเมิน หากผ่านการประเมินของแพทยสภาในปีนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ.2561
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ 19 มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบการแพทย์ 3 ด้าน คือ
1.ด้านบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขและระบบส่งต่อ เพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้ได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐานครบวงจรภายในเขตสุขภาพแบบไร้รอยต่อ
2.ด้านผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งก่อนปริญญา และหลังปริญญา
3.ด้านวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดียิ่งขึ้น
- 77 views