ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อัมมาร” เผยผลสอบบริหารงบบัตรทอง สรุป รพ.วิกฤตการเงินน้อยกว่า ปลัด สธ.เสนอ ทั้งไม่สามารถระบุได้ว่า ขาดทุนจากบัตรทองหรือไม่ เหตุ รพ.ต้องบริการรักษาหลายโรคและหลายระบบ คิดต้นทุนได้ยาก แถมระบบบัญชี รพ.สป.สธ.ไม่เป็นมาตรฐานเดียว แนะต้องเพิ่มระบบตรวจสอบบัญชี รพ.เพิ่มเติม ระบุ รพ.สป.สธ. เป็น รพ.ที่มีการเปิดเผยข้อมูลบัญชีให้สังคมได้รับทราบมากที่สุด พร้อมย้ำ สปสช.เป็น “องค์กรหาเช้ากินค่ำ” ไม่มีเม้มงบเหมาจ่าย ถ่ายโอนเงินลงหน่วยบริการหมด ติง สปสช.บกพร่องแจงข้อมูลทำความเข้าใจกับ รพ. และประชาชน         

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนำเสนอข้อมูลการบริหารงานระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้นำเสนอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนำเสนอข้อมูลการบริหารงานระบบหลักประกันสุขภาพต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อมูลการบริหารงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่นำเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ แล้วทำไมจึงมีการนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างกัน

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวว่า ในการนำเสนอผลการตรวจสอบนี้ ได้มีข้อเสนอแนะต่อบอร์ด สปสช.ในเรื่องการเงิน คือ สปสช.ควรจะช่วยให้โรงพยาบาล (รพ.) เข้าใจว่า เงินงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ได้มา ซึ่งมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ยกเว้นปีเดียวในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สปสช.คำนวณจากต้นทุนโรงพยาบาล และเรื่องนี้ก็น่าเห็นใจ รพ. เพราะการที่ รพ.จะรู้ต้นทุนการบริการก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะด้วยภาวะการเจ็บป่วยที่แตกต่าง จึงไม่สามารถแยกแยะเพื่อแยกดูต้นทุนการบริการได้ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ส่วนที่มีการระบุว่า รพ.ขาดทุนจากการบริการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไม่มีใครรู้ แม้แต่ตนเองก็ไม่รู้ได้ แม้ว่าจะเคยเป็นผู้ที่คำนวณงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบ ที่ผ่านมาในการคำนวณเป็นเพียงแต่ใช้วิธีประมาณการณ์ที่ดีที่สุดในการคิดงบประมาณเท่านั้น แม้แต่กระทรวงสาธารณสุขหรือ รพ.เองก็ไม่รู้ต้นทุนการบริการรักษาพยาบาลเช่นกัน จึงเป็นปัญหามาตลอด ขณะเดียวกัน รพ.ยังต้องให้บริการรักษาพยาบาลหลายอย่างและหลายระบบภายใต้หลังคาเดียวกัน ดังนั้นการจะแบ่งส่วนคิดต้นทุนบริการรายโรคจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขมักระบุว่า สปสช.ทำให้ รพ.ขาดทุน และเม้มงบประมาณไว้ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ในฐานะที่ได้เคยร่วมบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รู้ว่าเงินงบประมาณส่วนใหญ่ สปสช.ได้ระบายลงไปให้กับหน่วยบริการทั้งหมด สปสช.เปรียบเหมือนหน่วยงานที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินเหลือ ซึ่งการระบายงบประมาณนี้ยิ่งรวดเร็วขึ้นหลังจากที่ถูกกล่าวหากรณีบริหารงบเหมาจ่ายค้างท่อ

ต่อข้อซักถามว่า ในการนำเสนอผลการตรวจสอบต่อบอร์ด สปสช. ซึ่งระบุว่าปัญหาโรงพยาบาลสังกัด  สป.สธ.(สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) อาจไม่ได้ขาดทุนมากอย่างที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำเสนอก่อนหน้านี้นั้น ศ.ดร.อัมมาร กล่าวว่า ที่ระบุเช่นนั้นเพราะเราดูจากบัญชี รพ. อย่างไรก็ตามเมื่อดูบัญชี รพ.ที่ สธ.นำเสนอนี้ ต้องบอกว่าอยู่ในสภาพที่กลุ้มใจมาก แม้ว่า สธ.จะมีมาตรฐานกลางในการทำบัญชี แต่ว่า รพ.ส่วนใหญ่กลับไม่ใช้ ขณะเดียวกันมีการนำบัญชีเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกันและระบุว่า รพ.มีปัญหาการเงินวิกฤต ซึ่งเมื่อคณะกรรมการฯ นำบัญชี รพ.เหล่านั้นมาดูและใช้มาตรฐานกลางในการเทียบวัด ปรากฎว่าไม่วิกฤตการเงิน ดังนั้นหากมีระบบตรวจสอบบัญชี รพ.ที่รัดกุมก็จะทราบปัญหาที่แท้จริง แต่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ในการตรวจสอบบัญชี รพ.นี้ ต้องบอกว่า รพ.สป.สธ. เป็น รพ.ที่มีการเปิดเผยข้อมูลบัญชีให้สังคมได้ทราบมากที่สุด

“รพ.สป.สธ. มีระบบการเงินไม่ได้รับการรับรองด้วยการตรวจสอบจริงจัง ขณะที่ระบบการเงินทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาครัฐ เมื่อมีการทำบัญชีออกมาแล้ว จะมีการตรวจสอบบัญชี ตรงนี้เป็นส่วนที่ รพ.สป.สธ.บกพร่องอยู่ เท่าที่เข้าตรวจสอบข้อมูล” ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช.ที่ผ่านมา ดร.อัมมาร ระบุว่า จากการติดตามดูข้อมูลการเงินในงบเหมาจ่ายรายหัวทั้งในส่วน สธ. และ สปสช. ซึ่งหากทั้ง  2 หน่วยงานใช้ระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผลออกมาไม่น่าต่างกัน แต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นเช่นนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะอาจทำให้เกิดความไข้วเขวทางข้อมูล และอาจเกิดผลกระทบได้ โดยเฉพาะกรณีที่ สธ.มีการย้ายเงินเพื่อช่วยสถานพยาบาลวิกฤตตามหลักเกณฑ์ สธ. ดังนั้นในประเด็นนี้จึงต้องมีการวางหลักเกณฑ์ทางบัญชีเที่ยงตรงมากๆ และที่ผ่านมาได้พยายามติดตามดูว่า สธ.มีกระบวนการตรวจสอบทางบัญชีหรือไม่ ไม่เคยได้รับคำตอบชัดเจน

ทั้งนี้สิ่งที่ได้จาการตรวจสอบคือในกรณีงบประมาณที่มาจาก สปสช. จะมีการตรวจสอบที่ละเอียดมากโดยเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยเฉพาะการตรวจสอบที่ สปสช. แต่หลังจากที่มีการโอนเงินต่อไปยังหน่วยบริการ การตรวจสอบเป็นอย่างไรนั้น ตรงนี้เราไม่ทราบ นอกจากนี้ในกรณีที่เป็นเงินนอกงบประมาณใน รพ.การตรวจสอบบัญชีก็จะเจือจาง เหล่านี้เป็นประเด็นที่ สธ.และ สปสช.ต้องดำเนินการให้เกิดระบบที่ถูกต้องและเหมาะสม

“สรุป รพ.สป.สธ.ที่บอกการเงินวิกฤต แต่พอตรวจดูก็ไม่ได้เป็นจริง  มีปัญหาน้อยกว่าที่ปลัด สธ.นำเสนอ และระบุไม่ได้ว่า รพ.ขาดทุนจากการทำงานให้ สปสช. โดยประเด็นนี้ สปสช.ควรชี้แจงให้กระจ่าง เพราะมีความเข้าใจกันมากว่า สปสช.ทำให้ รพ.ขาดทุน เม้มงบประมาณไว้ และให้เงิน รพ.น้อยกว่าที่ควรเป็น คำถามคือเมื่อเม้มแล้ว สปสช.นำเงินไปไว้ไหน แต่ทุกคนที่ทำงาน สปสช.ทราบดีว่า งบประมาณที่เข้า สปสช.เท่าไหร่ก็ออกไปเท่านั้น แต่มีหลายคนเชื่อแบบนั้น ดังนั้นต้องให้ความกระจ่าง ที่ผ่านมา สปสช.เองก็บกพร่องในการให้ข้อมูลต่อสำนักงบประมาณน้อยเกินไป ควรต้องทำงานอีกมาก รวมถึงชี้แจงกับ รพ.ทุกแห่ง” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว