ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ลูกน้อยทุกคนล้วนหวังให้บุตรของตนมีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง ครบ 32 ประการ แต่ก็มีไม่น้อยที่ทารกเกิดภาวะผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือ “ความพิการแต่กำเนิด” ซึ่งนอกจากสาเหตุจากพันธุกรรมแล้วส่วนหนึ่งยังมาจากได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพออีกด้วย

นพ.กุลเสฏฐ ศักดิ์พิชัยสกุล นายแพทย์ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า ทุกวันนี้ มีคุณแม่หลายคนที่ต้องเผชิญความเสี่ยงกับภาวะความพิการแต่กำเนิดของลูกน้อย โดยพบว่าเด็กแรกเกิดในประเทศไทยจะประสบภาวะพิการแต่กำเนิดถึงร้อยละ 3 – 4 หรือประมาณ 30,000 – 40,000 คนต่อปี ไม่ว่าจะเป็นอาการดาวน์ซินโดรม โรคปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะภาวะหลอดประสาทไม่ปิดที่มักทำให้เกิดความพิการทางร่างกายที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต อาทิ ภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะและไร้สมองใหญ่ ทำให้ทารกมักเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์หรือหลังคลอดไม่นาน รวมถึงภาวะเนื้อสมองโผล่ยื่นออกมาจากช่องกะโหลก และภาวะกระดูกสันหลังโหว่ เป็นต้น โดยทุกๆ 10,000 คนจะพบทารกแรกเกิด 4 – 7 คนที่มีภาวะหลอดประสาทไม่ปิด ซึ่งสาเหตุของความพิการดังกล่าวเกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น สาเหตุจากพันธุกรรม โรคประจำตัวของมารดาโดยเฉพาะโรคเบาหวาน สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ สารเคมี อาหาร หรือยาบางชนิด ระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงภาวะขาดสารอาหารที่จำเป็นขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะ โฟเลต หรือ วิตามินโฟลิก

‘โฟเลต’ หรือ ‘วิตามินโฟลิก’ เป็นสารอาหารที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรหัสพันธุกรรม ทั้ง ดีเอ็นเอ ยีนและโครโมโซมของมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์ต้นกำเนิดของทารก นับตั้งแต่ช่วงเริ่มปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 28 วันแรกหลังจากปฏิสนธิที่เป็นช่วงของการสร้างระบบประสาท ทั้งสมองและกระดูกสันหลัง รวมถึงระบบอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย โดยการรับประทานโฟเลตที่ถูกต้องจะต้องรับประทานอย่างน้อย 1 ถึง 2 เดือนก่อนการตั้งครรภ์จึงจะสามารถป้องกันการพิการแต่กำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และควรรับประทานโฟเลตขนาด 400 ไมโครกรัม หรือวันละ 1 เม็ด ต่อเนื่องกันเพื่อให้มีระดับโฟเลตภายในร่างกายอยู่ในระดับที่พอเหมาะต่อการเติบโตของตัวอ่อน รวมถึงรับประทานต่อเนื่องไปถึงช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งจากผลวิจัยพบว่าการรับประทานโฟเลตก่อนตั้งครรภ์สามารถลดสาเหตุความพิการแต่กำเนิดจากภาวะหลอดประสาทไม่ปิดได้ร้อยละ 70

อย่างไรก็ตาม พบว่าหญิงไทยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีการเสริมโฟเลตก่อนการตั้งครรภ์ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนตั้งครรภ์ล่วงหน้า และกว่าจะทราบว่าตั้งครรภ์ อายุครรภ์ก็เลยช่วง 28 วันที่เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดไปแล้ว แพทย์จึงแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์รับประทานโฟเลตไว้แต่เนิ่นๆ โดยอาจเริ่มทานตั้งแต่หลังแต่งงาน เพราะโฟเลตไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สามารถขับออกได้ทางปัสสาวะ และยังช่วยบำรุงสมอง บำรุงเลือด รวมถึงทำงานของร่างกายในระดับดีเอ็นเอได้อีกด้วย ทั้งนี้ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถผลิตโฟเลตเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานทั้งประเภทยา และอาหารทั่วไป โดยพบมากในอาหารจำพวกตับ ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักโขม ดอกกุยช่าย ผักกาดหอม และผลไม้สด เป็นต้น

นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว การเตรียมความพร้อมการตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นตรวจสุขภาพและการตรวจหาความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่างๆ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ รวมถึงการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ และสามารถดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะพิการแต่กำเนิดได้อย่างดีที่สุดอีกด้วย 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง