ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ไทยรัฐ : หัวข้อวันนี้ฟังดูแล้วน่ากลัว ดุเดือด แปลความหมายไปได้หลายอย่าง หลายเรื่องตามแต่ความคิด สถานการณ์ของแต่ละบุคคล

“ท้าทาย” ในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องรวมที่ทุกคนต้องเจอต้องประสบไม่ว่าตัวเองหรือครอบครัวเจอ และเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทั้งผู้ให้ และ ผู้รับ

นี่คือเรื่องสุขภาพที่หมอเคยเกริ่นไว้หลายครั้ง หลายหน “ท้าทาย” ในที่นี้คือ เราต้องท้าทายตัวเองให้ยอมรับความจริงว่าระบบสาธารณสุขไทย ในการให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาจต้องล้มละลาย ในขณะที่มีผู้ป่วยหน้าใหม่เดินแถว หรือถูกหามมาโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากขึ้นทุกวัน ดูได้จากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งต้องรับคนไข้เกินอัตราที่กำหนดตามมาตรฐานไว้ว่าต้องพอดีกับอุปกรณ์ เครื่องมือ สถานที่ ความเหมาะสมกับจำนวนของแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร รวมทั้งบุคลากรทุกระดับ

เพราะว่าถ้าไม่รับเกิน คนป่วยจะไปไหน ขณะนี้ต้องรับเกิน เลยเถิดไปเป็น 150-170% บุคลากรแน่นอนไม่พอ เพราะโรงพยาบาลระดับชุมชนพื้นฐานต่ำสุดรับมือไม่ได้ ถูกคาดหวังต้องมีผู้เชี่ยวชาญ การผ่าตัดธรรมดาที่สุด เช่น ไส้ติ่ง ทำคลอด ไม่กล้าทำ เพราะถ้าผิดพลาดอาจถึงคุก และเกิดการทะลักทลายส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์

หนำซ้ำสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งต้องทำหน้าที่ป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพ คัดกรองผู้เป็นโรคที่ไม่ติดต่อที่เรียกกันว่า NCD (non–communicable diseases) เช่น ความดันสูง เบาหวาน อ้วน จิปาถะ ทำงานกันหนักหน่วง อีกทั้งมีโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพกันมากมาย ในขณะที่บุคลากรน้อยนิดและยังต้องรับมือป้องกันกับโรค CD ซึ่งก็คือ โรคติดต่อ โรคติดเชื้อ ทั้งโรคเดิมอุบัติซ้ำและที่เกิดใหม่ นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น อีโบลา เมอร์ส ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ทั้งเก่า ใหม่ และจากสัตว์ ยุง แมลง เห็บ ไร ริ้น ซึ่งต้องคอยเฝ้าระวัง และแถมต้องมีรายงานอีก

ฉะนั้น ฝ่ายป้องกัน และฝ่ายรักษาต่างก็เคืองๆ กันอยู่เนืองๆ ใครทำงานหนักกว่า ใครสำคัญกว่า ใครควรได้งบมากกว่า สรุปได้เลยครับ หนักหมด สำคัญหมด ขอแสดงความนับถือทุกคน ทุกฝ่ายที่เสียสละกันมาขนาดนี้ หมอในฐานะคนกลางซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ซึ่งแม้จะมีคนไข้มากมาย แต่ยังมีบุคลากรและแพทย์ประจำบ้านเป็นจำนวนมหาศาลเช่นกัน แต่ถึงมหาศาลอย่างไร ก็ไม่น่ารอดเนื่องจากผู้ป่วยที่มา “อ่วม” มาจากหลายกระบวนการ อมโรคมากมาย เมื่อโรคปะทุ ก็มีพร้อมเพรียง พังทุกระบบ หัวใจ ไต ตับ ปอด ต้องมีเครื่องพยุงชีวิต เครื่องหายใจจิปาถะ และที่ “อ่วม” เมื่อมาถึงโรงพยาบาลรัฐคือ ผ่านมาจากหลายแห่ง จากโรงพยาบาลเอกชนจนหมดทุนทรัพย์

ภาพที่เราต้องการเห็นในประเทศไทยคือ โรงพยาบาลเตียงว่าง ไอซียูว่าง ห้องผู้ป่วยนอกแม้จะล้นหลามไปบ้าง แต่ส่วนมากเดินมาได้เองไม่ต้องนั่งรถเข็น

ภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อการป้องกันโรคได้ผล จะประสบความสำเร็จได้ จากการคัดกรองผู้ป่วยที่เริ่มเป็น แต่ยังไม่มีอาการ ปรับเปลี่ยนล้างสมองให้รักตัวกลัวตาย ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว ปรับปรุงพฤติกรรม หรือเมื่อมีอาการแล้ว ให้การรักษาซึ่งมีประสิทธิภาพถึงขีดสุด ไม่ให้โรคเบาหวาน ความดัน โรคไต พัฒนาต่อ และเป็นการชะลอโรคให้คนป่วยอยู่ในสภาพคนธรรมดามากที่สุดนานที่สุด

จะทำเช่นนั้นได้ หมายความว่า การรักษาผู้ป่วยนอกต้องแสดงฝีมือเต็มร้อย การประเมินประสิทธิภาพขององค์กร คือ ความสามารถในการประคอง หยุดชะงักโรคไม่ให้ก้าวต่อ และหาคนไข้มานอนโรงพยาบาลยาก และเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการป้องกันไม่ให้เกิดโรค และการรักษาแต่เนิ่นๆ ให้โรคหยุดนิ่ง ชะลอตัวได้นานสุด

การที่โรงพยาบาลเตียงไม่พอ ผ่าตัดกันกระจุย คือความล้มเหลวอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของระบบสุขภาพ...เฉลยตรงนี้นะครับ นี่คือเรื่องท้าทายต่อเราทุกคน โรคทั้งหลายแหล่ เพาะบ่มเป็นปีๆ 5 ปี 10 ปี โรคสมอง อัลไซเมอร์ 15-20 ปี จนเกิดอาการโผล่ โรคเหล่านี้ป้องกันได้ เมื่อถ้ามีดวงชะตาเกิดมาต้องมีโรคก็สามารถชะลอให้ช้าที่สุด แทนที่จะเกิดโรคที่อายุ 35 ปี ให้ไปโผล่ที่ 80-90 ปี ตายไปเพราะแก่ตายไปก่อน

ประชาชนทุกคนต้องตระหนักว่า เมื่อเกิดโรคแม้อาการจะน้อยนิดก็ตาม หมายถึง อวัยวะเริ่มพังไปแล้วกว่าครึ่ง สุขศึกษาพื้นฐาน อาหารการกิน ผักผลไม้สะอาด ผอมแต่ไม่แห้ง แข็งแรง ออกกำลังกาย จิตใจแจ่มใส ช่วยเผยแพร่ความคิดรักษาสุขภาพให้คนรอบข้าง

หมอ เภสัชกร บุคลากรสาธารณสุข ประชาชน ต้องมุ่งป้องกันตั้งแต่โรคไม่เกิด โรคเกิดแล้วแต่ไม่แสดงอาการ ต้องหยุดยั้ง นั่นคือ พร่ำบอกโดยไม่เบื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ล้างยาผีบอก เก็บยาแผนปัจจุบันที่พิสูจน์ว่าไม่มีประสิทธิภาพออกจากประเทศ ระบุข้อความตัวยาใดที่ผลให้แค่การบรรเทาอาการ อย่างยาแก้ปวด ยาสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ (ซึ่งเขียนมาหลายครั้งแล้ว) ว่าเพียงกระตุ้นให้กระฉับกระเฉง ไม่ได้ชะลอโรค ยาพาร์กินสันกระตุ้นให้เดินดีขึ้น ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ ไม่ชะลอโรค แต่ถ้าใช้ในปริมาณมาก ให้เหมือนคนปกติ กลับเร่งโรคให้จบสิ้น เดินไม่ได้ ยาไม่ได้ผลภายใน 2-3 ปี

สิ่งเหล่านี้รวมทั้ง “ท้าทาย” ผู้ควบคุมออกนโยบาย รัฐมนตรี เจ้ากระทรวง กล้าที่จะยอมรับความจริง กล้าพลิกล้างระบบเข้าสู่การรักษาสุขภาพด้วยตนเองถ้วนหน้า กำจัดยาไม่จำเป็นออก ถ้าไม่กล้า ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นการผลักคนออกจากระบบ ผลักคนดีออกจากระบบสาธารณสุข ผลักคนเป็นโรคที่ยังไม่ป่วยให้ป่วยหนัก ผลักคนไทยสู่โลงศพ รับความจริงเถอะครับ.

ผู้เขียน : หมอดื้อ

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ