ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานเสาวภา สภากาชาดไทย จัดงานเปิดตัว “โครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ” กระตุ้นภาครัฐและภาคประชาชนให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุ เพื่อความคุ้มทุนและประโยชน์ทางสาธารณสุขในระยะยาว

เมื่อเร็วๆ นี้ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย นำโดย นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ” เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคงูสวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม เป็นต้น พร้อมชี้ให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุ เพราะช่วยป้องกันอุบัติการณ์การเกิดโรค ลดความรุนแรงของโรค พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขในระยะยาวได้ พร้อมได้เชิญครอบครัวคนดัง และเหล่าดาราศิลปิน อาทิ หมอก้อง-พันตรี นายแพทย์สรวิชญ์ สุบุญ, โบวี่-อัฐมา ชีวนิชพันธ์, ตอง-พชรพล ศุขอร่าม, แม็กกี้-อาภา ภาวิไล, เต้-ธีธัช จรรยาศิริกุล และเอก-ธนโชติ กุสุมรสนานันท์ มาร่วมรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใส่ใจการดูแลสุขภาพคุณพ่อ คุณแม่ และผู้สูงอายุในบ้านให้ห่างไกลจากโรคติดเชื้อ ณ ลานเอเทรียม ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์

นพ.วิศิษฏ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า ปัจจุบัน ปัญหาโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุ ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข เพราะเมื่อผู้สูงอายุเกิดโรคติดเชื้ออาจจะมีอาการที่รุนแรงและต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่า หรืออาจต้องเสี่ยงต่อภาวะพิการหรือเสียชีวิตได้ ประกอบกับภายในไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า สังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กล่าวคือมีประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงาน นั่นหมายความว่าจะเกิดภาวะพึ่งพาโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน หลายๆ ประเทศได้หันมาให้ความสนใจต่อแนวทางป้องกันโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุอย่างจริงจัง โดยการใช้วัคซีนเป็นหนึ่งในแนวทางที่ถูกนำมาพิจารณาใช้กันมากขึ้น เพื่อให้ประชากรผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวด รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว ดังนั้น ในฐานะที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย มีภารกิจในด้านบริการการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน และเราได้ตระหนักถึงปัญหาโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุในประเทศไทย สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยคลินิกเสริมภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว จึงได้ริเริ่มโครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อและวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุให้แก่ประชาชนชาวไทย พร้อมกระตุ้นภาครัฐ ภาคสังคมและภาคประชาชน ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุ

 

ด้าน นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า ปัจจุบัน พบว่าอัตราการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในประเทศไทยยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากแพทย์และผู้สูงอายุไม่เข้าใจ ถึงความสำคัญของการป้องกันโรคที่มีความรุนแรงที่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยวัคซีนที่แพทย์ควรพิจารณาสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ วัคซีนงูสวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ซึ่งเป็น 3 โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน ซึ่งปัจจุบัน พบว่าบาดทะยัก คอตีบ ไอกรนพบในเด็กน้อยลง เนื่องจากเด็กไทยได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด แต่กลับพบอุบัติการณ์ของโรคในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นผลของการที่ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในวัยเด็กเริ่มลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

นพ. ธีระพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โรคงูสวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยและพบอุบัติการณ์มากขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและพบได้บ่อยในผู้ป่วยงูสวัด ได้แก่ ภาวะปวดเรื้อรัง หรือpost-herpetic neuralgia (PHN) จะมีอาการปวดเจ็บแสบร้อนตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง และอาการปวดมักพบมีความรุนแรงและมีอาการนานกว่าในผู้สูงอายุ ปัจจุบันหลายประเทศมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยจากการศึกษาพบว่าวัคซีนสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดได้ร้อยละ 51.3 และแม้ว่าผู้ที่รับวัคซีนจะมีงูสวัดเกิดขึ้นก็พบว่าสามารถป้องกันการเกิดภาวะ PHN ได้ร้อยละ 66.5 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนและมีงูสวัดเกิดขึ้น แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง เนื่องจากวัคซีนงูสวัดเป็นเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์จึงห้ามฉีดในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เช่น กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นในการฉีดเข็มกระตุ้น สามารถให้ร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัสได้ในเวลาเดียวกัน สามารถฉีดวัคซีนได้ทั้งในผู้สูงอายุที่เคยเป็นและไม่เคยเป็นโรคงูสวัดหรือโรคสุกใสมาก่อน ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมักพบบริเวณที่ฉีด เช่น คัน แดง อาจมีไข้ต่ำๆ ได้ มักหายภายใน 2-3 วัน

“และในช่วงหน้าฝนนี้โรคติดเชื้อที่ระบาดประจำ คือ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งโดยทั่วไปอาการไม่รุนแรงและหายได้เองใน3-5 วัน แต่หากเป็นผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีอาการรุนแรงและพบภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะปอดอักเสบ ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จึงมีความสำคัญในบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รัยยากดภูมิคุ้มกัน โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีไวรัสชนิดเอและบีเข้ากล้ามหรือฉีดเข้าในหนังบริเวณต้นแขนปีละ 1 ครั้งทุกปี สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ควรให้วัคซีนแก่ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่รุนแรง หรือผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นกิลแลง-บาร์เร มาก่อน สำหรับโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบเกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี และยังเป็นสาเหตุของการติดเชื้อรุนแรง เช่น การติดเชื้อในกระแสโลหิต เยื่อหุ้มสมองอักเสบในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยตัดม้าม ผู้ป่วยตับวายหรือไตวาย ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้ วัคซีนป้องกันปอดบวม หรือเรียกว่าวัคซีนนิวโมคอคคัส แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้าม 1 เข็ม โดยแนะนำให้ฉีดในบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่ได้รับการตัดม้าม และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น หัวใจวายเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตวาย และโรคตับแข็ง เป็นต้น พบว่าการฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ สามารถลดการเกิดปอดอักเสบและการติดเชื้อรุนแรงจากเชื้อก่อโรคที่มีสายพันธุ์ตรงกับในวัคซีนได้” ศ.นพ. ธีระพงษ์ กล่าวสรุป

“โครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ” โดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2558 และจะดำเนินการรณรงค์จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2558 โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อและวัคซีนในผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกเสริมภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ถนนพระราม 1 หรือโทร 02-252-0161-4 หรือ 02-252-0167 ต่อ 132