ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"รองเลขาฯแพทยสภา" แนะข้อสังเกตที่ควรรู้ให้ผู้เสียหาย เหยื่อผลแล็บชุ่ยว่าติดเอดส์ ตั้งข้อสังเกต "สุดท้ายใครจะรับผิดชอบ" และคดีเรียกค่าเสียหายทุกข์ใจจะจบอย่างไร

เว็บไซต์เดลินิวส์ : กรณีนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ที่แพทย์ประจำโรงพยาบาลระบุว่า พบเชื้อเอชไอวีจนเกิดการเข้าใจผิด ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาอย่างต่อเนื่อง เสียทั้งเงินทอง และความรู้สึก กระทั่งความจริงมาปรากฏภายหลังว่าไม่ได้ติดเชื้อ จึงทวงถามไปยังโรงพยาบาลที่ทำการรักษา กลับได้รับคำตอบจากแพทย์ว่า เป็นเพราะร่างกายของผู้ป่วย ล้างเชื้อเอชไอวีได้เอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยกรณีที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องผลแล็บ ซึ่งจะต้องมีมาตรฐาน เพราะมีความสำคัญมาก ส่งผลต่อทั้งชีวิตของคนไข้ ซึ่งย่อมเกิดความทุกข์และทรมานจิตใจ ไม่กล้าไปตรวจซ้ำที่อื่น เพราะอับอายความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรับผิดชอบของโรงพยาบาลโดยตรง หลังเกิดเหตุผู้เสียหายไม่ได้ร้องต่อแพทยสภา เนื่องจากเห็นว่าคงไม่มีประโยชน์ จึงนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าความจริงจะกระจ่าง พร้อมวอนผ่านสื่อไปยัง รมว.สาธารณสุข ให้นำร่าง พ.ร.บ.เข้า ครม.ในเร็ววันเพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 ก.ย. เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Ittaporn Kanacharoen ว่า การตรวจเลือดเป็นงานของนักเทคนิคการแพทย์ ในห้องแล็บซึ่งแพทย์ต้องรักษาตามผลที่ได้ จึงมีข้อที่ต้องพิจารณาว่า (+) ครั้งแรกเป็นผลจากแล็บ หรือการแปลผลที่ผิดพลาดของแพทย์ ซึ่งกรณีนี้การร้องเรียนเพื่อขอให้ตรวจสอบแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาสามารถทำได้

#สรุปข้อสังเกตุ ?

ก.ถ้าห้องแล็บบอกว่า (-) แพทย์แปลผลผิดพลาดเป็น(+) รักษาแบบ (+) ซึ่งผิดมาตรฐาน แพทย์จะต้องรับผิดชอบ...

ข.ถ้าห้องแล็บบอกว่า (+) แพทย์แปลผลตามเป็น (+) รักษาแบบ (+) ถือเป็นแพทย์รักษาตามมาตรฐาน

ค.ถ้าห้องแล็บบอกว่า (+) แต่จริงๆ ผลเป็น (-) ในครั้งแรก และอีก 4 ปีต่อมาผลเป็น (-) นั้น อาจเกิดจากได้การรายงาน "ผิด" ด้วยเหตุต่างๆ ทางเทคนิกที่ต้องสืบค้นข้อมูล ว่าความผิดพลาดอยู่ที่ใด

ง.ถ้าห้องแล็บบอกว่า (+) และพิสูจน์พบว่าผลก็เป็น (+) จริงตามมาตรฐานในครั้งแรก และอีก 4 ปีต่อมาผลเป็น (-) นั้น อาจเกิดจากการรายงาน"ถูกต้อง" แต่เป็นภาวะ (+) เทียมทางแล็บ หรือเป็นภาวะ (+) จริงๆ จากสภาวะผู้ป่วยเอง เพราะเวลานานอาจมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปี อาจได้รับยาและรักษาอะไรมาบ้างไหม..ซึ่งต้องใช้หลักฐานประกอบ อื่นๆเช่นผลเลือดตรวจจำนวนไวรัสอื่นๆ ก่อนตัดสินข้อเท็จจริง

ซึ่ง ค. และ ง.จะอยู่ในความรับผิดชอบของห้องแล็บ และนักเทคนิกการแพทย์ สามารถตรวจสอบมาตรฐานของแล็บได้ โดย สธ.และ สภาเทคนิคการแพทย์ (ไม่ใช่แพทยสภานะครับ)

ตามข่าวรายนี้ คาดว่าผลแล็บออกมาว่า (+) = "เป็น" ปกติแพทย์ต้องรักษาให้ยา..ตามมาตรฐาน (ถ้าพบแพทย์รายนี้ข้อมูลไม่ชัดว่าได้รับการรักษาอย่างไรหรือไม่) จน 4 ปีมาตรวจซ้ำผลแล็บว่า (-) "ไม่เจอ" ...ซึ่งน่าจะถือเป็นโชคดีของคนไข้ ถ้าเป็นจริง

น่าสนใจบทสรุปว่า

1.ผลเลือด (+) นี้เป็นความพลาด (Medical Error) ทางเทคนิค ที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ หรือเป็นเรื่องจริงทางการแพทย์ที่ คนไข้เคย (+) แล้วกลับ (-)ได้ (ซึ่งเป็นความหวังของคนไข้เอดส์ทุกคน)..

2.สุดท้ายจะเป็นความรับผิดชอบของใคร ?

3.คดีเรียกร้องค่าเสียหายทุกข์ใจ..จะจบลงอย่างไร ?

ติดตามดูต่อไปนะครับ

ขอบคุณคุณปรียานันท์ที่เข้าใจบทบาทที่แยกหน้าที่กันของแพทย์ เทคนิคการแพทย์ และสถานพยาบาล ซึ่งรับผิดชอบโดยกฎหมายคนละฉบับครับ

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ

ขอบคุณที่มา : http://www.dailynews.co.th