ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน 55 แห่ง ในภูมิภาคและตะเข็บชายแดนรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พัฒนา 5 รพศ./รพท. รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.พหลพลพยุหเสนารพ.หาดใหญ่ รพ.พระปกเกล้า เป็นศูนย์กลางด้านวิชาการการแพทย์และเป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายเออีซีในระดับภูมิภาค เชื่อมระบบงานกับระดับตติยภูมิ ทุติยภูมิ และปฐมภูมิใน จ.กาญจนบุรี รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

วันนี้ (18 กันยายน 2558) ที่ จ.กาญจนบุรี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนและการเชื่อมระบบบริการสาธารณสุขระหว่างโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กับโรงพยาบาลทวาย ที่รัฐบาลไทยและเมียนมา กำหนดให้เป็นโรงพยาบาลคู่แฝดเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพชายแดนในระยะยาวร่วมกัน โดย จ.กาญจนบุรีมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา เป็นระยะทาง 370 กิโลเมตร ประชาชนทั้ง 2 ประเทศเดินทางติดต่อกันได้สะดวก

นพ.วชิระ กล่าวว่า ในการพัฒนาระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข ให้มีศักยภาพรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในภูมิภาค 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ให้เป็นศูนย์กลางด้านวิชาการการแพทย์และเป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายเออีซีในระดับภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน ตามแนวตะเข็บชายแดน 50 แห่ง

โดยมีแผนการพัฒนา ดังนี้ 1.คุณภาพบริการของสถานบริการสุขภาพให้ผ่านตามมาตรฐานการพัฒนาและรับรองคุณภาพ( HA ) 2.ระบบประกันสุขภาพ 3.ระบบข้อมูลข่าวสารในการประสานการดำเนินงานรองรับบริการของศูนย์วิชาการและเครือข่ายบริการ 4.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการประสานการพัฒนา/ด้านภาษา/บริการ/วิชาการ/สารสนเทศ 5.แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและศึกษาดูงาน ติดตาม กำกับ ประเมินผลการดำเนินงานเพื่อให้มีศักยภาพรองรับผู้รับบริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างมีประสิทธิภาพ  

สำหรับโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ซึ่งกำหนดให้เป็นโรงพยาบาลคู่แฝดกับโรงพยาบาลทวาย ได้มีโครงการ “ความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุข” ระหว่าง 2 โรงพยาบาล โดยทางเมียนมาได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมาอบรมที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนานอกจากนี้ ยังได้ออกแบบระบบบริการสุขภาพล่วงหน้า 10ปี (พ.ศ.2559-2568 ) โดยเริ่มที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางชั้นสูง (Centers of Excellence) รองรับผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่ต้องการบริการทางทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งจะเร่งพัฒนาเชื่อมระบบงานระดับตติยภูมิ ทุติยภูมิ และปฐมภูมิ ภายใน จ.กาญจนบุรี รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อีกด้วย