ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์เผยโรคตาขี้เกียจพบมากในเด็ก ทำให้ตามัวลง ถ้าไม่ได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที อาจทำให้ตามัวแบบถาวร ชี้ผู้ปกครองควรสังเกตความผิดปกติทางตาที่เกิดขึ้นกับเด็ก หากมีความผิดปกติด้านการมองเห็นควรพบจักษุแพทย์ทันที

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคตาขี้เกียจหรือโรคตามัว เป็นโรคที่ทำให้ตาของเด็กมัวลง ถ้าไม่ได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที อาจทำให้ตามัวแบบถาวร และไม่สามารถแก้ไขได้เมื่อโตแล้ว การมองเห็นในคนปกติเริ่มมีการพัฒนาของสายตาตั้งแต่แรกคลอด และจะสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 10 ปี แล้วสายตาจะคงที่จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่

ความผิดปกติของตาตั้งแต่เด็กจึงมีผลอย่างมากต่อการมองเห็นไปตลอดชีวิต ฉะนั้นการตรวจตาในเด็กเพื่อค้นหาความผิดปกติจึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากเด็กไม่สามารถบอกความผิดปกที่เกิดขึ้นกับตนเองได้เหมือนผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตความผิดปกติทางตาที่เกิดขึ้นกับเด็ก หากมีความผิดปกติด้านการมองเห็น และอาจสงสัยว่าเป็นโรคตาขี้เกียจจะมีอาการสำคัญคือ ในเด็กเล็ก อาจสังเกตเห็นลูกตาดำสั่น หรือเด็กไม่จ้องหน้า เด็กร้องไห้เมื่อถูกปิดตา 1 ข้าง หรือพยายามดึงมือที่ปิดตาออก

สำหรับในเด็กโต ถ้าผู้ปกครองทดลองปิดตาทีละข้างสลับกันเด็กจะมองเห็นภาพไม่ชัดเจนเหมือนคนปกติ ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น สาเหตุของภาวะสายตาขี้เกียจ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เกิดจากความบกพร่องของอวัยวะรับภาพและแปลผลภาพ เป็นกลุ่มที่รักษาได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย ตัวอย่างของโรคในกลุ่มนี้ เช่น โรคประสาทตาฝ่อ เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่เกิดจากการบดบังภาพที่เข้าสู่จอประสาทตาเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อย เช่น โรคตาเขหรือตาเหล่ โรคสายตาสั้น- ยาว - เอียง แบบไม่สมมาตร โรคที่ทำให้แสงผ่านเข้ามาในตาไม่ดี เช่น โรคต้อกระจกแต่แรกเกิด โรคเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หนังตาตก เป็นต้น

สำหรับวิธีแก้ไขภาวะสายตาขี้เกียจ ได้แก่

1.การแก้ไขที่สาเหตุ เช่น ถ้าเด็กมีปัญหาสายตาสั้นยาวไม่เท่ากันมากๆ ก็แก้ไขได้ด้วยการใช้แว่น เพื่อให้ตาทั้งสองข้างมองเห็นชัดๆ เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน

2.กระตุ้นให้เด็กใช้ตาข้างที่เป็นโรคตาขี้เกียจมากขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีที่นิยมกันคือปิดตาข้างที่มองเห็น เพื่อที่จะให้เด็กใช้สายตาข้างที่ขี้เกียจมากขึ้น

3.บำบัดสายตา เป็นการฟื้นฟูตาขี้เกียจด้วยการใช้เครื่องมือฝึกกล้ามเนื้อตา และโปรแกรมการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาด้วยคอมพิวเตอร์

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันภาวะตาขี้เกียจของเด็ก คือ

1.เด็กควรได้รับการสังเกตดวงตาตั้งแต่แรกคลอด โดยดูลักษณะขนาดของดวงตาทั่วๆ ไป ว่าปกติหรือไม่ มีอะไรที่มาปิดตาดำของเด็กหรือไม่

2.เมื่อเด็กมีอายุ 2-3 เดือน ผู้ปกครองต้องสังเกตว่าเด็กจ้องมองเวลาให้นมได้หรือไม่ เมื่อเด็กยังทำไม่ได้ควรต้องปรึกษาแพทย์

3.เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน ควรจ้องมองตามวัตถุได้ โดยตาของเด็กปกติจะจ้องมองนิ่งๆ จับวัตถุได้

4.เมื่ออายุ 3 ปี เด็กจะมีสายตาใกล้เคียงกับผู้ใหญ่พอให้ความร่วมมือในการวัดสายตาโดยใช้แผ่นภาพ เป็นรูปภาพหรือรูปสัตว์ที่เด็กคุ้นเคยขนาดต่างๆกัน ซึ่งสามารถวัดระดับการมองเห็นของเด็กได้ รวมถึงการตรวจดูว่าตาเหล่หรือไม่ จึงควรนำเด็กมาพบจักษุแพทย์เสมอ