ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อำนาจมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งเด้งฟ้าผ่าคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) 7 ราย กำลังผลักมิตรให้กลายเป็นศัตรู

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 3 เดือน ที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทุน สสส. ทำให้ “ภาคีเครือข่าย” ภาคประชาชน ซึ่งรับเงินสนับสนุนจาก สสส.ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

“ที่ผ่านมา คตร.มีคำสั่งให้ระงับการอนุมัติโครงการที่วงเงินเกิน 5 ล้านบาท พร้อมทั้งขอกลั่นกรองการเบิกจ่ายงบประมาณเอง เป็นเหตุให้มีไม่ต่ำกว่า 4,000 โครงการได้รับผลกระทบ เจ้าหน้าที่กว่า 1 หมื่นชีวิต ได้รับความเดือดร้อน” นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ หนึ่งในภาคีให้ภาพ

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า อธิบายเพิ่มว่า การระงับการจ่ายงบประมาณดำเนินการและไม่อนุมัติโครงการที่มีงบประมาณเกิน 5 ล้านบาท รวมกว่า 1,953 ล้านบาท เป็นโครงการที่งบประมาณเกิน 5 ล้านบาท จำนวน 515 โครงการ รวมงบประมาณ 1,643 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆ ประมาณ 5,200 คน รวมผู้ปฏิบัติงานในโครงการย่อยคาดว่าเกิน 1 หมื่นคน

เสียงโอดครวญจากภาคีเครือข่ายได้ก่อตัวขึ้นเป็นความไม่พึงพอใจต่อรัฐบาลทหาร นำมาสู่การประชุมใหญ่เพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของเครือข่ายต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 20 องค์กร ในนาม “ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” (ขสช.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2559

“หากโครงการที่งบประมาณเกิน 5 ล้านบาท ยังถูกแช่แข็งต่อไป จะรวมตัวกันยื่นฟ้อง สสส.ต่อศาลปกครอง” นายธีระ อ้างอิงแถลงการณ์ ขสช.

ทว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้กลับถูกจับตาจาก “ผู้ใหญ่” ใน สสส.มากกว่ารัฐบาล

ตลอดระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล คสช.มีความพยายามเข้ามาจัดระเบียบ“องค์กรตระกูล ส.” หลายต่อหลายครั้ง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ สสส.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งถือครองงบประมาณประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี

เห็นได้ชัดว่า แม้ สสส.และ สปสช.จะถูกกระทำมากเท่าใด “ผู้ใหญ่” ใน สสส.และ สปสช. (ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกัน) กลับ “แอ๊กชั่น” น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

กระทั่ง คตร.และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสของกองทุน สสส.จนเป็นเหตุให้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส.ในขณะนั้น ชิงลาออกจากตำแหน่ง กลับพบว่า “ผู้ไหญ่” ใน สสส.ต่างสงบปากสงบคำ นั่นทำให้ภาคีเครือข่ายหลายแห่งจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันขรม

อย่างไรก็ตาม ที่ดูเหมือนว่าจะทำให้ภาคีเครือข่ายเดือดดาลเป็นพิเศษ คงเป็นการถูก “ไล่บี้” ภาษีย้อนหลังรวมค่าปรับมากกว่า 800 ล้านบาท ท่ามกลางความคลุมเครือของการตีความ “ทำแทน” กับ “รับจ้าง” จนองค์กรต่างๆ ต้องรวมตัวกันเคลื่อนไหว

“ถ้าเครือข่ายเคลื่อนไหวใหญ่ อาจทำให้ทหารไม่พอใจ สุดท้ายเขาก็จะล้างบางทั้งหมด” คือคำเปิดใจจากแหล่งข่าวใน สสส.

“เครือข่ายมีสิทธิที่จะเคลื่อนไหว แต่ต้องไม่รุนแรง ต้องไม่ทำให้ทหารโกรธ” เป็นคำพูดจาก“ผู้ใหญ่” อีกราย ซึ่งมีอิทธิพลใน สสส.

นั่นเพราะ “ผู้ใหญ่” กลุ่มนี้ ยังมีความเชื่อว่าสามารถ “ต่อสายเคลียร์” กับเหล่าขุนศึกบิ๊กทหารได้

ความเชื่อดังกล่าวใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เห็นได้จากการ “ปิดห้องคุย” ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ในฐานะประธานบอร์ด สสส.พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธาน คตร. และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

“ผู้ใหญ่” ใน สสส.ยังเชื่ออีกว่า การเคลียร์ใจเบื้องหลังจะช่วยให้ คตร.ปลดล็อกโครงการเกิน 5 ล้านบาท ได้ ซึ่งจะเป็นการ “ต่อลมหายใจ” ให้ภาคีเครือข่ายต่างๆ ต่อไป

จึงไม่แปลกที่ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2559 นพ.ประเวศ วะสี จะปรากฏตัวในที่ประชุมกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่าย ประการหนึ่งมาเพื่อลดอุณหภูมิที่กำลังระอุอยู่ในใจของเครือข่าย อีกประการหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณกับรัฐบาลว่าพร้อมเปิดศึก

นพ.ประเวศ วิพากษ์ว่า การตัดสินใจของ คสช.เป็นความผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์ และการบริหารประเทศเป็นเรื่องยาก คสช.ต้องรู้ว่าใครดีใครไม่ดี ใครตั้งใจทำงานเพื่อประเทศ ที่สำคัญคือต้องรักษามวลชน

จุดเปลี่ยนของสถานการณ์นี้ จึงอยู่ที่การประชุมบอร์ด สสส.ในวันที่ 15 ม.ค. เพื่อเลือก “ผู้จัดการกองทุน” คนใหม่ โดย “ผู้ใหญ่” ใน สสส.มั่นใจว่า รัฐบาลจะยอมประนีประนอมด้วยการแต่งตั้งตัวบุคคลตามที่ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานสรรหาผู้จัดการกองทุน สสส.คนใหม่ เสนอ

ตรงตามที่ ขสช. ส่งสัญญาณ ในการประกาศแถลงจุดยืนตอนหนึ่งว่า จะติดตามการแต่งตั้งบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิรายใหม่ รวมถึงผู้จัดการกองทุน ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ซึ่งหากเกี่ยวข้องกับธุรกิจแอลกอฮอล์ บุหรี่ และผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศอย่างแน่นอน

การแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน สสส.จึงถือเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายภาคประชาสังคม (ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลพยายามให้น้ำหนักถึงขั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชารัฐ) กับรัฐบาลทหาร

ต้องจับตาการประชุมบอร์ด สสส.ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ด้วยใจระทึก หากชื่อของผู้จัดการ สสส.ไม่เป็นไปตามที่ได้สรรหาก่อนมีคำสั่งปลดบอร์ด สสส.ทั้ง 7 ราย

ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ “ผู้ใหญ่” จะเปิดไฟเขียวเคลื่อนไหวเต็มรูปแบบ