ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : โรงพยาบาลเอกชนเพิ่มดีกรีขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ รับเปิดเออีซี เผย "กัมพูชา-เมียนมา" แห่ใช้บริการเพียบ ขณะที่จีนก็เริ่มเข้ามามากขึ้น "เกษมราษฎร์" เล็งเจาะตลาดบนเพิ่ม ขณะที่ "บำรุงราษฎร์" เพิ่มตัวแทน-สำนักงานเจาะตลาดอินโดนีเซีย "เครือพญาไท" เร่งเครื่องเพิ่มสัดส่วนลูกค้าซีแอลเอ็มวี

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเครือเกษมราษฎร์ และเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธุรกิจโรงพยาบาลในปี 2559 ยังมีปัจจัยบวก ในแง่ของคนไข้ต่างประเทศและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และมีแนวโน้มว่าคนไข้จากกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวีจะเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะจากกัมพูชา เมียนมา และลาว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวจีนที่เริ่มนิยมเข้ามาตรวจสุขภาพในเมืองไทย ส่วนตลาดเดิมกลุ่มตะวันออกกลางยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

"ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนของคนไข้ต่างประเทศเริ่มเปลี่ยน กลุ่มซีแอลเอ็มวีมาเพิ่มขึ้น เมียนมามากที่สุด ซึ่งเดิมอาจจะบินไปที่สิงคโปร์ ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าไทยเฉลี่ย 30-40% และปัจจุบันภาครัฐก็มีนโยบายให้การสนับสนุนเรื่องเมดิคอลแทรเวล และเฮลท์แคร์ยังเป็นหนึ่งในคลัสเตอร์ที่ภาครัฐต้องการจะใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ"

ขณะที่ นพ.นำ ตันธุวนิตย์ ผู้อำนวยการด้านบริหารและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจุบันจำนวนคนไข้ต่างประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในกลุ่มซีแอลเอ็มวี เมียนมาและกัมพูชามีการเติบโตมากที่สุด เช่น เดียวกับตลาดจีนที่ขยายตัวเร็ว ส่วนใหญ่เข้ามาตรวจสุขภาพ แอนตี้เอจจิ้ง และสูตินรีเวช

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลมีสัดส่วนคนไข้ไทยและต่างประเทศ 50 : 50 แต่ในแง่รายได้มาจากคนไข้ต่างประเทศถึง 65% และปี 2558 คาดมีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการประมาณ 5.2 แสนคน

จากนี้จะขยายฐานลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยอินโดนีเซียเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีแผนจะเพิ่มตัวแทนและสำนักงานในหลายประเทศ จากปัจจุบันมี 33 แห่ง ใน 18 ประเทศ

"ที่ผ่านมาคนไข้กลุ่มซีแอลเอ็มวีโตเร็วมาก เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ แต่ระบบสาธารณสุขยังมีข้อจำกัด จึงหันมาใช้บริการในเมืองไทยและคาดว่าหลังเปิดเออีซีจะส่งผลดีใน แง่ของคนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น"

นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวว่า ได้หันมาดูแลคนไข้ต่างประเทศอย่างจริงจังตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว และพบว่า 2 ปีที่ แล้วโต 30% ปีนี้โตถึง 113% ระยะหลังๆ อัตราเติบโตของคนไข้ซีแอลเอ็มวีสูงขึ้นมาก และยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก

จากนี้จะโฟกัสตลาดนี้มากขึ้น โดยจะเปิดสำนักงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น จาก ปี 2558 ที่ได้จัดโซนอินเตอร์เนชั่นแนลเลานจ์ หอผู้ป่วยสำหรับชาวกัมพูชาโดยเฉพาะ

ปัจจุบันคนไข้ต่างประเทศมีสัดส่วน 28% ของคนไข้ทั้งหมด ในจำนวนนี้ 80% เป็นชาวกัมพูชา รองลงมาเป็นยุโรปและอเมริกา 13% เมียนมา 5% เอเชียชาติอื่น ๆ 5% จีน 3% อีก 4% มาจากประเทศอื่น ๆ

ขณะที่ นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า ตั้งเป้าจะขยายฐานกลุ่มคนไข้ต่างประเทศเพิ่ม อาทิ จีน และอินโดนีเซีย ที่เป็นตลาดใหญ่ด้วยประชากรจำนวนมากและกำลังซื้อ รวมทั้งมีแผนจะเพิ่มตัวแทนในอีกหลายประเทศ จากปีนี้ที่คนไข้ต่างประเทศขยายตัว 45% โดยเฉพาะคนไข้จากกัมพูชา ลาว เวียดนาม ที่เติบโตเท่าตัว ขณะที่เมียนมาโต 32%

และที่ผ่านมาได้เพิ่มเตียงในห้องไอซียูอีก 8 เตียง จาก 22 เตียง นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงพยาบาลในเวียดนามดูแลผู้ป่วยมีบุตรยากด้วย ปัจจุบันพญาไท 2 มีคนไข้ชาวต่างประเทศเป็นสัดส่วน 15% หลักๆ เป็นกลุ่มซีแอลเอ็มวี ยุโรป อังกฤษ ตะวันออกกลางมีบ้าง

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ปัจจุบันกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทมีรายได้ต่างประเทศรวมกว่า 2,000 ล้านบาท และเติบโตจากปีก่อนหน้านี้ 30% 3 อันดับแรก คือ กลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี, ตะวันออกกลาง และจีน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 - 30 ธ.ค. 2558