ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ประชาชาติ : ธุรกิจยักษ์ รพ.เอกชนเปิดเกมรุกปั้นโมเดลใหม่ "โรงพยาบาลพักฟื้นผู้ป่วย" ขยายฐานลูกค้าไทย-เทศ เพิ่มรายได้นอกโรงพยาบาล แก้ปมเตียงล้น-พยาบาลขาดแคลน คนไข้ประหยัดค่าใช้จ่ายถูกลง 3 เท่า กลุ่มธนบุรีเฮลท์แคร์ ปักธงฝั่งธน-รัตนาธิเบศร์ เครือกรุงเทพสร้าง Chiva Transitional Care Hospital เตรียมเปิดให้บริการอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ส่วน รพ.เวิลด์เมดิคอลในเครือเกษมราษฎร์แบ่งพื้นที่เปิด 20 ห้องรองรับคนไข้ยุโรป

นอกจากกระแสลงทุนซื้อกิจการและสร้างใหม่ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเป็นเรื่องของการขยายโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะธุรกิจสุขภาพนอกโรงพยาบาล อาทิ คลินิกเฉพาะทางสแตนด์อะโลน และโรงพยาบาลฟื้นฟูผู้ป่วยหรือ Step Down Care

โมเดลล่าสุดที่รายใหญ่ ๆ กระโดดลงมาในขณะนี้ โดย "โรงพยาบาลฟื้นฟูผู้ป่วย" ถือเป็นอีกโมเดลขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้จากช่องว่างทางการตลาด ที่จะรองรับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงพักฟื้นหลังการผ่าตัดหรืออยู่ในช่วงทำกายภาพบำบัดต้องรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน โดยเน้นให้ญาติเป็นผู้ดูแลหรือผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองได้ ซึ่งช่วยลดค่า ใช้จ่ายในการพักฟื้นในโรงพยาบาลหรือมีค่าใช้จ่ายถูกลงอย่างมาก

โรงพยาบาลกายภาพธนบุรี

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธนบุรีเฮลท์แคร์กรุ๊ปมีแผนจะสร้าง "โรงพยาบาลกายภาพ" หรือ "Step Down Care" ทั้งขนาดเล็กต่ำกว่า 100 เตียง และขนาดใหญ่มากกว่า 200 เตียง เบื้องต้นปีนี้จะสร้าง 2 แห่งที่ทำเลย่านฝั่งธนฯและพระนั่งเกล้า รองรับผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน อาทิ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ซึ่งต้องการช่วยคนไข้ลดค่าใช้จ่ายลง 3 เท่าหรืออย่างน้อย 30% กลุ่มลูกค้ามีทั้งผู้ป่วยของ รพ.ธนบุรีและรองรับคนไข้จากโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่มีอัตราครองเตียงเต็ม

ภายในโรงพยาบาลกายภาพจะให้บริการดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ประกอบด้วย บริการกายภาพบำบัด, สปอร์ตเมดิซีน, โรคเครียดกันมาก, ปัญหาเด็กติดเกม และยาเสพติด ในอนาคตจะขยายศูนย์พักฟื้น ผู้ป่วยเข้าไปในโรงพยาบาลของกลุ่มธนบุรีทุกแห่ง รวมทั้งโครงการใหญ่ Northern Medical City ย่านรังสิต

"คนไทยไม่ชอบกลับไปอยู่บ้าน กลัวและต้องการความปลอดภัย ใกล้หมอ หรือคนไข้ผ่าตัดจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล 2 วันที่เหลืออีก 5 วันรอตัดไหมและทำกายภาพ โดยเฉพาะกายภาพ ยกตัวอย่าง รอตัดไหมอาจจะมีค่าใช้จ่าย 30,000-40,000 บาทต่อวัน โดยศูนย์พักฟื้นจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายลดลงเหลือแค่วันละหมื่น ทั้งยังใช้บุคลากรพยาบาลไม่มากเท่าโรงพยาบาล ลดต้นทุนบริหารจัดการ" นพ.บุญกล่าว

Chiva Transitional กรุงเทพ

ขณะที่ทางโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยพักฟื้น โดยใช้ชื่อ "Chiva Transitional Care Hospital" อยู่ด้านหลังโรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย โดยข้อมูลล่าสุดจากการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาปรากฏ พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพกลุ่ม 1 กล่าวว่า โรงพยาบาลดูแลคนไข้ช่วงที่ผ่านการรักษาไปแล้ว หรือ Transitional Care มี 52 เตียง บริการหลัก ๆ เป็นเรื่องของการฟื้นฟู ผู้ป่วย (Rehabilitation) เป็นการเตรียมความพร้อมและฟื้นฟูก่อนกลับไปอยู่บ้านคาดว่า จะเปิดให้บริการในเดือน มิถุนายนนี้

ด้าน นพ.ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ กลุ่มกรุงเทพ กล่าวถึง กลยุทธ์เพิ่มการเติบโตของบริษัทตั้งแต่ปี 2560-2563 จะมองถึงการดูแลก่อนและหลังรักษาพยาบาล ซึ่งที่มีทั้งการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน อาทิ โครงการศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร BDMS Wellness Clinic

ส่วนการดูแลหลังออกจากโรงพยาบาลได้สร้าง Chiva Transitional Care Hospital ช่วยลดการกระจุกของคนไข้ในโรงพยาบาลและเป็นผลดีกับผู้ป่วยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ได้รับการดูแลเหมือนอยู่โรงพยาบาล เบื้องต้นมีแห่งเดียว แต่ยังมีพื้นที่ขยายอีกมาก ส่วนบริการรักษาโรคจะมีโรงพยาบาลครบ 50 แห่งปลายปี 2561 ปีนี้ รวมถึงการสร้างใหม่อีก 3-4 แห่ง

"มีผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เข้ามาในธุรกิจนี้ ทุกคนมุ่งหน้าแข่งขันสร้างโรงพยาบาล ผมคิดว่า ตรงนี้จะเป็นทะเลเลือด คนเข้ามาทีหลังน่าจะเหนื่อย" นพ.ชาตรีกล่าว

"เกษมราษฎร์" ปั้นเวิลด์เมดิคอล

ด้านโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ปลายปีที่ผ่านมาได้เปิดตัวคลินิกกายภาพบำบัด ที่ตึกเอไอเอ สาทร พื้นที่ 300 ตร.ม. ห้องรักษา 7 ห้อง อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดและต้องการทำกายภาพ

ส่วน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ บมจ.บางกอกเชน ฮอสปิทอล กล่าวว่า โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ยังไม่มีบริการดังกล่าว แต่ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ในเครือเกษมราษฏร์มีอยู่ 1 ชั้น มี 20 ห้องเป็นแผนกดูแลคนไข้หลังผ่าตัดจากยุโรปบินเข้ามาพักฟื้ก ซึ่งต้องการความปลอดภัยและพักฟื้นทำกายภาพอยู่ในโรงพยาบาล แต่ในยุโรปมีค่าใช้จ่ายสูง เทียบกับในไทยถูกกว่าอย่างน้อย 30-40% ส่วนใหญ่มาเป็นกลุ่ม 3-5 คน เฉลี่ยพัก 1-3 เดือน

"สมัยก่อนเป็นเนิร์สซิ่งโฮมดูแลผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่บูม ๆ ตอนนี้เป็นโรงพยาบาลหันมาทำกิจการนอกโรงพยาบาล เราลงทุนศูนย์พักฟื้นจริงจังเป็นตึกใหญ่ต้องดูว่า จะมีฐานลูกค้ามากขนาดไหน อัตราครองเตียงจะเต็มหรือไม่ กำลังซื้อเป็นอีกตัวชี้วัด ซึ่งเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีทันสมัย การผ่าตัดแผลเล็ก พักไม่กี่วันก็กลับบ้านได้ คนไข้ที่ต้องอยู่นาน ๆ สัดส่วนไม่ได้มีมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือ ตัวเองไม่ได้หรือพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งห้องไอซียูในโรงพยาบาลมีเคสใหม่ ๆ เข้ามา รายที่มีการหายใจคงที่ก็จะย้ายไปอยู่ สเตปดาวน์ไอซียูที่มีค่าใช้จ่ายถูกลง"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 - 16 เม.ย. 2560