ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เปิดข้อมูลจัดซื้อยาแค่ 4% ของยาทั้งระบบที่ใช้ในประเทศเท่านั้น มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกยาราคาแพงและมีผู้ป่วยจำนวนน้อย ได้แก่ ยาบัญชี จ (2) กลุ่มที่สองยาขาดแคลนไม่มีจำหน่ายในระบบปกติ ได้แก่ ยากำพร้ายาต้านพิษ และวัคซีน และกลุ่มที่สามคือยาที่มีผู้ป่วยจำนวนมากต้องใช้ยาต่อเนื่องและเป็นภาระงบประมาณต่อทั้งผู้ป่วยและโรงพยาบาล ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอดส์ และน้ำยาล้างไต พร้อมเผยปีที่ผ่านมา ร่วมมือกับ สปส. จัดซื้อยาจำเป็นราคาแพง ช่วยประหยัดค่ายาได้ 1 พันล้านบาท ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช. กล่าวถึงกรณีผู้ให้ข้อมูลว่า สปสช.ผูกขาดการจัดซื้อยาของประเทศว่า ขอเรียนชี้แจงว่า สปสช.จัดซื้อยาเพียงแค่ 4% ของทั้งระบบ ที่เหลืออีก 96% รพ.เป็นผู้จัดซื้อจัดหาเอง สปสช.ไม่ได้ซื้อยาทุกตัวที่ใช้ใน รพ.แต่เน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นใน 3 กลุ่มหลัก คือ

1.ยาราคาแพงและมีผู้ป่วยจำนวนน้อย ได้แก่ ยาบัญชี จ (2)

2.ยาขาดแคลนไม่มีจำหน่ายในระบบปกติ ได้แก่ ยากำพร้ายาต้านพิษ และวัคซีน

และ 3.ยาที่มีผู้ป่วยจำนวนมากต้องใช้ยาต่อเนื่อง และเป็นภาระงบประมาณต่อทั้งผู้ป่วยและ รพ.ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอดส์ และน้ำยาล้างไต

ความสำคัญอันดับแรกคือ ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับยา ในขณะที่งบประมาณมีจำกัด ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการจัดการเพื่อให้ได้ยาในราคาที่ถูกลง เช่น ยารักษามะเร็งซึ่งเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ จ (2) บางรายการที่ สปสช.จัดซื้ออยู่ในขณะนี้ เป็นยาต้นแบบของบริษัทต่างประเทศ (Original) สปสช.สามารถจัดซื้อได้ต่ำกว่าราคาตลาดที่จำหน่ายทั่วไปถึงร้อยละ 80 การให้แต่ละ รพ.ไปจัดซื้อเองหรือจัดซื้อร่วมระดับเขต อำนาจการต่อรองราคาจะลดลงซึ่งสร้างภาระให้แต่ละ รพ.ต้องซื้อยาราคาแพงขึ้น หรือจัดซื้อได้ในราคาแตกต่างกัน รวมถึงการรับประกันการจัดส่ง การกำกับคุณภาพมาตรฐานของยา ในปีที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดหายาบัญชี จ (2) สามารถประหยัดงบประมาณภาพรวมของประเทศได้อีกกว่า 1,000 ล้านบาท และทำให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษาเข้าถึงยากลุ่มนี้ซึ่งเป็นยาราคาแพง

ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของยากำพร้าและยาต้านพิษ ซึ่งเป็นยาที่มีปัญหาการเข้าถึง ไม่มีผู้ผลิตหรือจำหน่ายในประเทศ ถึงแม้ยาราคาไม่แพง แต่ใช้น้อย ไม่สามารถคาดการณ์ใช้ยาต่อปีได้ แต่เป็นยาจำเป็นสำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วย ทำให้ที่ผ่านมาเมื่อมีผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยา ถึงแม้ รพ. จะมีเงินจำนวนมากก็ไม่สามารถจัดหายาได้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาในระดับประเทศ เนื่องจากต้องการันตีการจัดซื้อในปริมาณขั้นต่ำจึงจะมีผู้ผลิตยานี้ โดยอาศัยความร่วมมือทั้ง กระทรวงสาธารณสุข สมาคมพิษวิทยา องค์การเภสัชกรรม และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เป็นต้น ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้เกิดการสำรองยาในประเทศ นอกจากนี้ต้องมีระบบการให้คำปรึกษา โดยสมาคมพิษวิทยาคลินิกเพื่อช่วยให้การใช้ยาเป็นไปอย่างถูกต้องทันเวลา ซึ่งสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้แล้วกว่า 13,000 รายนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 จนถึงปัจจุบัน และผู้ป่วยกว่า 95% ของผู้ป่วยที่รอดชีวิตสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

สำหรับการจัดหาวัคซีนซึ่ง สปสช.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบการจัดหาและกระจายวัคซีนตามแผนสร้างเสริมการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข ในกระบวนการจัดหาต้องแจ้งปริมาณความต้องการล่วงหน้าอย่างน้อย 6-8 เดือน จึงจะสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอแก่ความต้องการทั้งประเทศ ทำให้ได้วัคซีนชนิดเดียวกันทั้งระบบ มีระบบควบคุมอุณหภูมิระหว่างการจัดเก็บและขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันอาการไม่พึงประสงค์และทำให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรับวัคซีนอีกด้วย หากให้ รพ.ดำเนินการเองอาจไม่สามารถกำหนดแผนความต้องการล่วงหน้าได้ และสายพันธุ์ที่ได้อาจไม่ตรงตามที่ WHO กำหนด หรือแตกต่างกันในแต่ละ รพ.ส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของเด็ก และภูมิคุ้มกันในภาพรวมของประเทศ และราคาที่จัดซื้อได้อาจสูงกว่าราคาที่ซื้อได้ในปัจจุบัน ทั้งนี้การจัดซื้อรวมระดับประเทศ สปสช.สามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 400 ล้านบาทซึ่งสามารถนำเงินดังกล่าวมาขยายชุดสิทธิประโยชน์ครอบคลุมวัคซีนรายการใหม่ๆ เช่น วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) และวัคซีนไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อเป็น (JE live attenuated) เป็นต้น

 ในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์นั้น สปสช.ดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างกระทรวงการคลังและจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ภก.คณิตศักดิ์ กล่าว