ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘กฤตยาแสดงทัศนะว่า สังคมควรทำให้การท้องทุกท้อง ไม่ว่าจะท้องพร้อมหรือไม่พร้อมเป็นเรื่องปกติก่อน การมองว่าถ้าท้องไม่พร้อมแล้วเป็นปัญหาส่งผลให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือก แต่หากมองว่าท้องทุกท้องไม่ว่าจะตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือเกิดความผิดพลาด เป็นท้องที่สามารถจัดการได้ ไม่ว่าจะด้วยการยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม ประการต่อมาคือต้องทำให้การท้องที่ไม่พร้อมมีทางเลือกและทางเลือกทุกทางนั้นต้องปลอดภัย ถูกกฎหมาย และให้คนทุกกลุ่มทุกเหล่าเข้าถึงบริการได้’

จาก-ท้องในวัยรุ่น ‘ปัญหา’ ของวัยรุ่น หรือ ‘ปัญหา’ ของผู้ใหญ่?

เราเปิดด้วยทัศนะของกฤตยา อาชวานิจกุล นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา เพื่อวางแนวคิดเบื้องต้นกันก่อนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์

เป็นที่รู้กันดีว่า ‘การทำแท้ง’ เป็นคำแสลงในสังคมไทยที่มักมี ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ห้อยท้ายกฎหมายเสมอ ขณะที่อิทธิพลของศาสนาพุทธ การทำแท้งถูกปลูกฝังลงในความคิดของคนทั่วไปว่าเป็นบาปหนักและจะส่งผลเลวร้ายต่อผู้หญิงไปชั่วชีวิต (ว่าแต่ทำไมผู้ชายไม่บาปเท่ากับผู้หญิง?)

เหตุนี้ เมื่อต้องพูดถึงการทำแท้งในประเทศไทยจึงต้องใช้คำที่อ่อนโยนลงอย่างคำว่า การยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งมีทั้งแบบที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัย และนี่คือประเด็นที่เราจะคุยกัน

กฎหมายอาญาเกี่ยวกับการทำแท้ง

กฎหมายอาญาของไทยระบุความผิดในการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งว่า หญิงที่ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งลูก มีความผิดตามมาตรา 301 ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ทำให้หญิงแท้งลูกโดยความยินยอมมีความผิดตามมาตรา 302 ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงได้รับอันตรายสาหัส ผู้ทำให้หญิงแท้งลูกมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผู้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้ทำให้หญิงแท้งต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท

โดยมีการยกเว้นความผิดในมาตรา 305 ในกรณีผู้ทำแท้งเป็นแพทย์ผู้มีใบอนุญาตและเป็นการทำแท้งด้วยความจำเป็นด้านสุขภาพของหญิง กรณีที่หญิงตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืนกระทำชำเรา กรณีที่หญิงคนที่ตั้งครรภ์อายุไม่ถึง 15 ปี รวมทั้งกรณีที่การตั้งครรภ์เกิดจากการถูกล่อลวง บังคับ ข่มขู่ เพื่อทำอนาจารสนองความใคร่

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อบังคับแพทยสภา ยังระบุหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ว่าแพทย์ที่ทำแท้งให้หญิงตามกฎหมายอาญามาตรา 305 (1) และ (2) แล้ว ในกรณีที่หญิงมีปัญหาสุขภาพทางจิต หรือมีความเครียดอย่างรุนแรงเพราะพบว่าทรกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงที่จะพิการอย่างรุนแรง หรือเป็น หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง ก็สามารถทำแท้งให้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทั้งแพทย์ผู้ทำแท้งและหญิงที่ถูกทำให้แท้ง

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 301 ขัดรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องของนางสาวศรีสมัย เชื้อชาติ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ที่ว่าด้วยบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน และมาตรา 28 ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 และ มาตรา 77 ที่ว่าด้วยรัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ประเด็นที่หนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28

ประเด็นที่ 2 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77

ประเด็นที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 กำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น มีผลเมื่อพ้นสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

เรื่องราวก่อนหน้านั้น

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (เฉพาะเรื่องนี้) น่าจะนำไปสู่การเข้าถึงสิทธิสุขภาพด้านอนาพันธุ์ในไม่ช้า แต่ก่อนหน้านั้น...

ข่าวเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ พบศพเพศหญิง อายุ 19 ปี นอนเสียชีวิตจมกองเลือดอยู่ภายในห้องน้ำของห้องพัก มีศพทารกไม่ทราบเพศนอนอยู่ใกล้ๆ ทั้งยังพบยาขับประจำเดือนแผนโบราณ 1 ขวดในถังขยะกับซองยาเม็ดอีกจำนวนหนึ่ง เบื้องต้นแพทย์นิติเวชคาดว่าผู้ตายน่าจะเสียชีวิตจากการกินยาขับเลือดจนเกิดการแท้งลูก ตกเลือด และเสียชีวิตในที่สุด

เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์โดยตระหนักรู้ว่าตนเองยังไม่พร้อมจึงเลือกทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ มันคือปัญหาที่สังคมไทยโยนภาระหนักอึ้งไว้บนบ่าของผู้หญิง ในอดีต การทำแท้งที่ปลอดภัยมีบริการน้อยนิด ทางเลือกจึงอยู่ที่การทำแท้งเถื่อนหรือหาวิธีทำแท้งด้วยตนเอง ข้อมูลจาก นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ระบุว่า

ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งจะซื้อยากินเองหรือไปทำแท้งที่คลินิกเถื่อนโดยที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ทำให้ ซึ่งเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต การตกเลือด การติดเชื้อจากอุปกรณ์ เนื่องจากวิธีการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยส่วนใหญ่จะใช้การใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการติดเชื้อ เกิดการอักเสบ และให้เกิดกระบวนการแท้งตามมา

“หรือแม้แต่การใช้น้ำยาล้างห้องน้ำฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการอักเสบ การเสียชีวิตของทารกในครรภ์ และการแท้งตามมา มันเป็นกรณีที่รุนแรงมากอาจทำให้เกิดมดลูกเน่า ไตวาย หรือแม้แต่การเสียชีวิตจากการติดเชื้อ”

ชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งจึงแขวนอยู่บนความเป็นและความตายโดยไม่จำเป็น ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ปี 2551 และ 2552 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งถึงปีละกว่า 3 หมื่นรายและคาดว่าจะมีอัตราตายสูงถึง 300 คนต่อแสนประชากร

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา อดีตนายกแพทยสภาและกรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เคยกล่าวไว้เมื่อต้นปี 2562 ว่า ปัจจุบันมี 54 ประเทศที่อนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ ครอบคลุมประชากรร้อยละ 61 ของประชากรโลก แต่ละปีทั่วโลกมีการยุติการตั้งครรภ์ราว 56 ล้านคน ในจำนวนนี้สูงถึงร้อยละ 45 ที่เป็นการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งหากเป็นการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทำตามมาตรฐานทางการแพทย์จะมีโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก ข้อมูลในสหรัฐอเมริกายังพบว่า ผู้หญิงที่คลอดธรรมดามีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยถึง 13 เท่า

ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

“การยุติการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัยสูงมากเพราะการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเมื่อก่อนมีสูง ซึ่งเราถือว่าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของไทยอันดับต้นๆ เพราะระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ยังหาวิธีการไม่ได้ แต่พอหลังปี 2553 และ 2554 เราก็เริ่มหามาตรการที่จริงจัง แต่ต้องยอมรับว่ามันก็ยังมีข้อจำกัด แต่เมื่อเรามีกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ก็เห็นได้ชัดเจนว่ากราฟมันดิ่งลง” นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกล่าว

นพ.บัญชา ยังกล่าวอีกว่า มีปฏิบัติการหนึ่งที่เรียกว่า ทีมงานอาสา (Referral system for Safe Abortion: RSA) ภายใต้เบอร์โทร 1663 ซึ่งกรมอนามัยให้การสนับสนุนโดยตรง เพราะว่าระบบส่งต่อดูแลการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นประเด็นที่เครือข่ายเหล่านี้ดูแล แต่การทำแท้งเถื่อนหรือไม่ปลอดภัยมีเท่าไหร่ก็ยังเป็นข้อมูลไม่แน่ชัด เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเลือกวิธีนี้และจะรู้ก็เมื่อผู้หญิงเกิดอาการแทรกซ้อนแล้วมารักษาที่โรงพยาบาล

การทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยจึงถือเป็นสิทธิด้านสุขภาพที่ผู้หญิงต้องเข้าถึงได้

ถามว่าปัจจุบัน การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยที่สุดคือวิธีการใด นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ อธิบายว่า การตั้งครรภ์มีความเสี่ยงในตัวมันเองอยู่แล้ว ส่วนการยุติการตั้งครรภ์ แม้จะทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ก็ยังมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ถ้าไปที่คลินิกและได้รับการขูดมดลูกหรือใช้เครื่องกระบอกดูดสูญญากาศก็ยังมีความเสี่ยงที่จะมดลูกทะลุได้ ทางเลือกที่ดีที่ในตอนนี้คือยายุติการตั้งครรภ์ที่เรียกว่า เมดาบอน (Medabon)

“การใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก็ยังมีความเสี่ยงเหมือนกัน ไม่มีวิธีการใดๆ ไม่มีความเสี่ยงเลย เพียงแต่ว่าการทำนั้นเราควบคุมความเสี่ยงได้อยู่ในเกณฑ์ที่เราพึงพอใจหรือไม่ อย่างกรณีการใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ก็อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น แท้งไม่หมดและตามมาด้วยการติดเชื้อ แต่มันอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากๆ วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีที่ต้องทำหัตถการ อัตราความปลอดภัยอยู่ที่ร้อยละ 95 หมายถึงว่าถ้าเรามีข้อบ่งชี้ชัดเจนแล้วเราใช้ยาตัวนี้ในร้อยคนจะแท้งครบประมาณ 95 คน เหลือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ที่อาจจะต้องตามด้วยการใช้กระบอกดูดสูญญากาศหรืออุปกรณ์ในการคีบเอาส่วนที่ไม่หมดออกมา ซึ่งจะลดปริมาณการต้องขูดมดลูกทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

“แต่ยายุติการตั้งครรภ์ที่เรานำเข้ามาในประเทศไทยโดย อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กำหนดให้ใช้ได้กับอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงของระยะแท้งนั่นเอง ความหมายก็คือหลังอายุครรภ์เกิน 24 สัปดาห์ไม่ถือว่าเป็นการแท้งแล้ว เดี๋ยวนี้หลายๆ โรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน ถ้าเลย 24 สัปดาห์ถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด เพราะฉะนั้นการจะยุติการตั้งครรภ์ที่ถือว่าเป็นการแท้งก็ต้องทำก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ แต่ให้สบายใจว่าคนส่วนใหญ่ที่มารับบริการยุติการตั้งครรภ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะมาในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งสามารถใช้ยาได้โดยปลอดภัย”

และเพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกรมอนามัยจึงได้บรรจุยาเมดาบอนเข้าไปในชุดสิทธิประโยชน์

สปสช.จัดสิทธิประโยชน์เพื่อเข้าบริการที่ปลอดภัย

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สปสช. เล่าความเป็นมาของสิทธิประโยชน์นี้ว่า เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและผู้ที่เกี่ยวข้องที่เห็นปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม นำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยหรือการทำแท้งเถื่อนซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน มีผู้หญิงเสียชีวิตค่อนข้างมาก ทางกรมอนามัยจึงปรึกษากับ สปสช. ว่า หญิงที่ตั้งครรภ์และเข้าข่ายตามกฎหมายในการยุติการตั้งครรภ์ควรได้รับบริการที่ปลอดภัยจากสถานบริการสุขภาพที่เป็นทางการ

“การพูดคุยกับกรมอนามัยเกิดขึ้นก่อนปี 2557 ทางกรมอนามัยคิดว่าน่าจะทำโครงการนำร่องและถ้าได้ผลก็จะขยายผล ซึ่งเราก็ทำโครงการนำร่องตั้งแต่ปี 2559 โดยใช้งบประมาณส่วนหนึ่งของ สปชส. สนับสนุน เมื่อทำโครงการนำร่องไปแล้ว กรมอนามัยก็นำเสนอผลการดำเนินการควบคู่ไปกับการนำเสนอต่อบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะการยุติการตั้งครรภ์มีการแนะนำมาแล้วว่าวิธีการยุติการตั้งครรภ์มี 2 แบบ แบบใช้ยากับแบบศัลยกรรมที่ใช้กระบอกสูบสุญญากาศ ซึ่งตรงนี้คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติก็พิจารณาพอดีว่าการใช้ยาเมดาบอนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการยุติการตั้งครรภ์ดีกว่ายาตัวอื่นๆ”

ถือเป็นการทำงานร่วมกับกรมอนามัย หน่วยบริการต่างๆ และ RSA โดยทางกรมอนามัยจะเป็นผู้ปฏิบัติ พัฒนาระบบ หาหน่วยบริการ หาเครือข่าย ขณะที่ สปสช. สนับสนุนด้านยา เมื่อคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติบรรจุยาเมตาบอนเมื่อเดือนมกราคมปี 2561 ในบัญชี จ(1) ทาง สปสช. จึงประกาศให้เป็นสิทธิประโยชน์อย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 โดยในส่วนโครงการนำร่องก่อนหน้านั้น ทาง สปสช. ได้งบสวัสดิการจากองค์การเภสัชกรรมมาสนับสนุนและส่งต่อให้กรมอนามัยเป็นผู้จัดซื้อยา

ระบบคือหน่วยบริการที่ประสงค์จะให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยต้องขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัยเพื่อรับรองและจะได้สามารถติดตาม กำกับ ดูแลได้ จากนั้นกรมอนามัยจะส่งรายชื่อหน่วยบริการมายัง สปสช. เพื่อจ่ายเงินตามจำนวนเคสที่เข้ามาใช้บริการที่รายละประมาณ 3,000 บาท สิทธิประโยชน์นี้ยังรวมถึงการป้องกันการท้องซ้ำด้วยการฝังยาคุมกำเนิดรายละ 2,500 บาทหรือการใช้ห่วงคุมกำเนิดรายละ 800 บาท ทั้งหมดนี้เป็นเงินรายหัวปกติที่ถูกนำมาจัดสรรใหม่

โดยในปี 2562 มีการยุติการตั้งครรภ์ 23,259 ราย เป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีประมาณ 3,000 รายอีกประมาณ 20,000 รายเป็นรุ่นอายุ 20 ปีขึ้นไป ใช้เงินไป 49 ล้านบาท ในส่วนการคุมกำเนิดกึ่งถาวรในหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี มี 44,154 ราย ในกลุ่มอายุมากกว่า 20 ปีมี 13,209 ราย 2 ส่วนนี้ใช้เงินไป 125 ล้านบาท

“ผมตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 22,000 ราย เพียงแต่ว่าในปี 2561 เข้ามาในระบบ 15,000 ราย ทำไมจึงน้อย อาจเพราะเด็กยังไม่กล้าในช่วงแรกๆ ที่เราเริ่มให้บริการ ถ้าดูในปี 2559 ที่เราเริ่มมีเด็กเข้ามาใช้บริการแค่ 3,600 ราย พอปี 2560 เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวประมาณ 8,000 ราย ปี 2561 เพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัวคือ 15,000 ราย นั่นแปลว่าสิ่งที่กรมอนามัยออกแบบระบบเพื่อการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ประชาชนเชื่อมั่นและรับรู้มากขึ้น”

ในส่วนของการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อหน่วยบริการส่งข้อมูลมาระบบไอทีของ สปสช. จะประมวลผลว่าหน่วยบริการไหน ให้บริการใคร จำนวนเท่าไหร่ และคำนวณออกมาเป็นตัวเงิน พอครบเดือนทาง สปสช. ก็จ่ายเงินคืนไป ส่วนยาเมื่อหน่วยบริการแจ้งเบิกมาว่าใช้ไปกี่ชุด สปสช. จะส่งข้อมูลไปให้โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อแจ้งให้องค์การเภสัชกรรมนำยาไปส่งให้หน่วยบริการ

“ทางหน่วยบริการต้องมีการคาดการณ์ก่อนว่า เขาจะใช้ยาจำนวนเท่าไหร่ซึ่งเขาจะมีข้อมูลอยู่แล้วจากที่เคยให้บริการมา เขาก็จะแจ้งมาที่เราว่าต้องการสต๊อกยาตั้งต้นเท่าไหร่ ยามีอายุประมาณ 2-3 ปียาจึงไม่เหลืออยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นหน่วยบริการให้บริการปีละ 50 เคส สต๊อกยาแค่ 5 ราย พอใช้ไป 2-3 รายผมก็ไปเติมให้ คือให้สต๊อกสำหรับบริการ 1 เดือนเท่านั้น เดือนต่อไปก็เป็นการหมุนเติม”

ด้าน นพ.บัญชา ยอมรับว่า สิทธิประโยชน์ที่ สปสช. จัดให้มีส่วนอย่างมากในการแก้ปัญหาการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

หนทางข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการยุติการตั้งครรภ์ 23,259 รายยังถือว่าน้อยมาก ภก.คณิตศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า ประชากรหญิงไทยที่ตั้งครรภ์และคลอดจะมากกว่าที่คลอดจริงประมาณ 100,000 ราย ขณะนี้มีผู้หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 6.9 แสนรายต่อปี ดังนั้น จำนวนหญิงที่ตั้งครรภ์จริงๆ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 แสนราย หมายความว่ามีผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมอีกไม่น้อยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการนี้หรืออาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีบริการนี้อยู่

ปัญหาประการหนึ่งที่ นพ.พีระยุทธ สะท้อนออกมา พบว่า ถ้าผู้ที่จะรับบริการยิ่งมีอายุน้อย การตัดสินใจก็จะยิ่งช้า โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยๆ 13-15 ปีที่ตั้งครรภ์ ถ้าประจำเดือนขาดจะต้องตระหนักว่ามีความเสี่ยงจะตั้งครรภ์ถ้ามีเพศสัมพันธ์ ต้องรีบตรวจการตั้งครรภ์โดยเร็ว เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องตัดสินใจอีกว่าจะปรึกษาใครเพื่อขอคำแนะนำ ถ้าไม่มีผู้ให้คำปรึกษาที่เป็นผู้ใหญ่หรือคนที่มีความรู้แนะนำ เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะมาถึงหน่วยบริการตอนอายุครรภ์สูง ไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แม้ว่าเด็กจะอายุต่ำกว่า 15 ปีเพราะไม่มีข้อบ่งชี้หรือใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ได้แล้ว

“ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ เราคงต้องปรับทัศนคติของแพทย์เพื่อให้มีจำนวนผู้ให้บริการมากขึ้นตามหน่วยบริการต่างๆ เพื่อให้ผู้มีปัญหาเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ถ้ามีทุกจังหวัดได้ยิ่งดี ซึ่งอยู่ในแผนที่เราจะพัฒนาต่อไปในอนาคต ตอนนี้เราก็มีการจัดอบรมการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทุกปีเพื่อขยายเครือข่ายตรงนี้เพิ่มขึ้น”

ประเด็นนี้สอดคล้องกับความกังวลของ ภก.คณิตศักดิ์ ที่เห็นว่า ขณะนี้หน่วยให้บริการยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศจริง ถึงแม้จะมีสูตินรีแพทย์อยู่ทั่วประเทศ แต่ก็ใช่ว่าหน่วยบริการทุกแห่งจะให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากแพทย์บางคนยังเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษอยู่ ทำให้กังวลว่าในบางพื้นที่ เมื่อมีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมอาจจะเข้าไม่ถึงบริการหรืออาจจะต้องเดินทางไกลไปหน่วยบริการอื่น ซึ่งตรงนี้ก็เป็นบทบาทของกรมอนามัยที่ต้องดำเนินการต่อ

ด้าน นพ.บัญชา กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติในขณะนี้ซึ่งผ่านคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาของวัยรุ่นในระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าเป็นประธาน มีสาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขาธิการ และมีหน่วยงานทั้ง 5 กระทรวงเข้ามาบูรณาการเชิงรุกลงไปตามโรงเรียน ชุมชน พบปะพูดคุยเพื่อให้ความรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและจะรับคำปรึกษาจากแหล่งต่างๆ ได้อย่างไร บางหน่วยออกบริการฝังยาคุมนอกพื้นที่ ซึ่งได้รับการตอบสนองที่ดีเพราะว่าวัยรุ่นเหล่านี้อาจไม่สะดวกที่จะไปโรงพยาบาล

การทำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยจึงยังต้องขับเคลื่อนต่อไป เพราะทั้งกฎหมายและสิทธิประโยชน์เปิดช่องทางการเข้าถึงบริการไว้แล้ว นอกจากนั้น ก็เป็นเรื่องทัศนคติของสังคมและบุคลกรสาธารณสุขจำนวนหนึ่งที่ต้องมองประเด็นนี้ในมุมมองด้านสิทธิในร่างกายของผู้หญิง สิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ นอกเหนือเพียงแค่มุมมองด้านศีลธรรมซึ่งอาจไม่ช่วยให้ผู้หญิงเหล่านั้นผ่านพ้นความยากลำบากไปได้

เขียน : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล