ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการทำแท้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เหตุชาย-หญิงมีสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย และเห็นว่าเข้าข่ายกฎหมายที่ไม่เท่าทันสภาพการณ์ พร้อมสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไข ด้านแพทยสภาเตรียมตั้งคณะทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้อบังคับให้สอดคล้องกับกฎหมายใหญ่ที่จะมีการพิจารณาปรับปรุง

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีนางสาวศรีสมัย เชื้อชาติ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 และ มาตรา 77 หรือไม่

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ซึ่งปรากฏผลการลงมติดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือมาตรา 28

ประเด็นที่สอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77

ประเด็นที่สาม สมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 กำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น มีผลเมื่อพ้นสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวออกมา ทำให้เกิดกระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า สรุปแล้วการทำแท้งในอนาคต หากทำเพื่อสุขภาพของหญิงผู้นั้นจะถือว่าไม่ผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และปัจจุบันข้อกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมดูแลเรื่องนี้ เป็นอย่างไร

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันแพทยสภามีข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วย หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 ซึ่งปัจจุบันยังใช้ตามข้อบังคับนี้อยู่ เนื่องจากต้องอิงตามกฎหมายแม่เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา ทางแพทยสภาได้เตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้อบังคับให้สอดคล้องกับกฎหมายใหญ่ที่จะมีการพิจารณาปรับปรุง ซึ่งส่วนนี้อาจต้องมีการพิจารณาว่าจะเป็นหน่วยงานไหนในการเสนอปรับปรุงกฎหมายต่อไป

ด้าน พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา ในฐานะสูตินรีแพทย์ กล่าวว่า ต้องย้ำว่าปัจจุบันการทำแท้ง เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่จะมีข้อยกเว้นในกรณีที่จำเป็น ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของแพทยสภา โดยการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ จะกระทำได้เมื่อหญิงตั้งครรภ์ยินยอม และแพทย์ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย อีกทั้ง การยุติการตั้งครรภ์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ กรณีจำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือเป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งต้องได้รับการรับรอง หรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 คน

เมื่อถามว่า กรณีหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้วตั้งครรภ์จัดอยู่ในข่ายที่ยุติการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ พญ.ชัญวลี กล่าวว่า ได้ ซึ่งก็จะมีการตรวจสอบ มีระบบขั้นตอนชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในสถานพยาบาล หากมีกรณีแบบนี้ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งจะมีแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งสูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ จิตแพทย์ เป็นต้น