รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ฉายภาพมุมมอง ประเด็นการ “ทำแท้ง” หรือ “ยุติการตั้งครรภ์” อย่างปลอดภัยในบริบทของสังคมไทย
ประเด็นการ “ทำแท้ง” หรือ “ยุติการตั้งครรภ์” อย่างปลอดภัยในบริบทของสังคมไทย เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยมาโดยตลอด และสัมพันธ์โดยตรงกับหลักการประชาธิปไตย
ทั้งที่เรื่องนี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพชีวิตและคุณภาพประชากร โดยเฉพาะในด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาวะทางจิตใจ หากแต่ในแง่ของความก้าวหน้าเชิงกฎหมายและนโยบายสาธารณะ กลับยังวนเวียนอยู่จุดเดิม
ในฐานะผู้ประพันธ์หนังสือเรื่อง “เถียงกันเรื่องแท้ง: สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและวงการศึกษา TTF AWARD ประจำปี 2562-2563
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ฉายภาพมุมมองผ่านแว่นของนักรัฐศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ
เธอ บอกว่า การจะทำแท้งหรือไม่ทำควรจะเป็นทางเลือกของตัวเขาเอง ไม่ใช่รัฐเป็นคนเลือกไว้ให้ เพราะเราไม่ใช่เขา จึงไม่มีทางรู้ว่าเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันอะไรบ้างในชีวิต ดังนั้นถ้าคุณคิดว่ามันเป็นเรื่องผิดศีลธรรมผิดบาป ก็ให้เจ้าตัวเป็นคนเลือกเองว่าจะทำบาปไหม
--- ‘ทำแท้ง = ทำผิด’ ต้นตอของปัญหา ---
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เริ่มต้นบทสนทนา โดยกล่าวถึงวังวนเดิมๆ ที่ยังคงไม่ก้าวหน้าไปไม่ถึงไหน ในเชิงนโนบายสาธารณะและกฎหมาย เกี่ยวกับทางเลือกการยุติการตั้งครรภ์เมื่อท้องไม่พร้อมในสังคมไทย โดยเฉพาะตัวบทกฎหมาย ตามกฎหมายอาญา มาตรา 301 - 305 ที่ถือว่าการเลือกยุติการตั้งครรภ์เป็น “อาชญากรรม”
แม้จะเป็นความผิดที่มีบทลงโทษ และถูกมองว่าผิดศีลธรรม แต่ในชีวิตประจำวันเรายังคงเห็นคนเลือกที่จะทำ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปของแต่ละตัวบุคคล
หมวดความผิดฐานทำให้แท้งลูก ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2500 กำหนดให้การทำแท้งเป็นความผิดที่มีบทลงโทษทั้งจำและปรับ การทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้ง ตามมาตรา 301 การทำให้ผู้หญิงแท้งลูกโดยผู้หญิงยินยอม ตามมาตรา 302 หรือการทำให้แท้งลูกโดยผู้หญิงไม่ยินยอม ตามมาตรา 303 ล้วนเป็นความผิด
แม้จะมีข้อยกเว้นตามมาใน มาตรา 304 ที่ระบุว่าเมื่อการทำแท้งเป็นเพียง “ความพยายาม” และในมาตรา 305 เมื่อเป็นการกระทำของแพทย์ ที่จำเป็นต้องทำเนื่องจากสุขภาพของผู้หญิง หรือหญิงที่ตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำผิดอาญา เช่น การข่มขืน หรือการล่อลวง
ทว่า โดยสรุปแล้ว ก็ยังถือเป็นความผิดแบบมีข้อยกเว้น ฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดปัญหาหลายประการตามมา
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ อธิบายถึงปัญหาในหลากหลายมิติ ทั้งความจำกัดของเงื่อนไขที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ แต่ไม่ครอบคลุมสถานการณ์ชีวิตของผู้คนทั้งในด้านสุขภาพและสังคมเศรษฐกิจ ไปจนถึงการถูกตีความเหมารวมโดยผู้ให้บริการด้านสุขภาพจำนวนไม่น้อย ที่มองว่าเป็นเรื่องทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย
ในขณะที่ผู้หญิงไทยหลายกลุ่มเลือกจะทำแท้ง ไม่ว่ากฎหมายจะว่าอย่างไร โดยยอมเสี่ยงกับวิธีการที่เป็นอันตราย จนกลายเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและการตายหลักอย่างหนึ่งในสังคมไทย
“ทุกวันนี้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยในบ้านเรา แม้จะเข้าข่ายตามข้อยกเว้นสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ปรากฎว่าไม่มีคุณหมอยอมทำให้ สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทางเลือกการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในประเทศไทยยังคงถูกปิดไว้” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว
เธอมองว่า ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนบนโลกใบนี้ “ควรเปิดทางเลือก” ในการยุติการตั้งครรภ์ไว้ เพราะผู้ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ท้องไม่พร้อมนั้น แต่ละตัวบุคคลล้วนมีความซับซ้อนและบริบทเบื้องหลังที่แตกต่างกันไป
“ควรเป็นทางเลือกที่เปิดไว้ให้เป็นทางเลือกของแต่ละบุคคล เพราะเราไม่ใช่เขาจึงไม่มีทางรู้ว่า เขาต้องเผชิญกับแรงกดดันอะไรบ้างในชีวิต ฉะนั้นการจะทำแท้งหรือไม่ทำ มันควรจะเป็นทางเลือกของตัวเขาเอง ไม่ใช่รัฐเป็นคนเลือกไว้ให้ ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นเรื่องผิดศีลธรรมผิดบาป ก็ให้เจ้าตัวเป็นคนเลือกเองว่าจะทำบาปไหม” อาจารย์ชลิดาภรณ์ ระบุ
--- ไม่มีทางเลือกสำเร็จรูปสำหรับทุกคน ---
สำหรับสถิติการทำแท้งในสังคมไทย เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้ประมาณการณ์เอาไว้ว่า อยู่ที่ราวๆ ปีละ 3 แสนราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย อยู่ที่ 300 คน โดยในปี 2558 รัฐต้องใช้งบประมาณเพื่อการรักษาผู้หญิงที่เจ็บป่วยจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย 132 ล้านบาท
ในปีเดียวกัน รายงานการเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทย ของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีผู้ป่วยแท้งเข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง จำนวน 2,840 คน โดย 43.1% เป็นผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์ ในจำนวนนี้ 6.7% มีภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้ง
แม้ปัจจุบันการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะให้สิทธิประโยชน์ทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบ่งชี้ได้ แต่ “รศ.ดร.ชลิดาภรณ์” มองว่าในทางปฏิบัติยังคงขึ้นอยู่กับสถานบริการและตัวผู้ให้บริการเป็นหลัก
การที่ประชาชนจะเข้าถึงสิทธิที่มีอยู่แล้วหรือไม่ จึงค่อนข้างเฉพาะมาก ขึ้นอยู่กับว่าผู้รับบริการไปเจอพยาบาลและแพทย์ที่มีทัศนคติแบบใด
จากจุดเริ่มต้นงานวิจัยสู่การสรุปเนื้อหาในรูปแบบหนังสือ “รศ.ดร.ชลิดาภรณ์” ได้สรุปข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายการจัดการท้องไม่พร้อมและทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ โดยแบ่งเป็น
1. การป้องกันท้องไม่พร้อมโดยการศึกษาและการคุมกำเนิด โดยเน้นไปที่การศึกษาสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้มีความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์ทางเพศของตน
2. ทางเลือกในสถานการณ์ท้องไม่พร้อมและบริการที่ปลอดภัย ในประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปัญหาการท้องไม่พร้อมมีความซับซ้อน และเฉพาะเจาะจงในแต่ละกรณี
ดังนั้น “ทางเลือกสำเร็จรูปอาจไม่เหมาะกับผู้หญิงทุกคน” โดยในชีวิตประจำวันเราต่างก็เห็นได้อย่างชัดเจน ภาพผู้หญิงที่ยอมเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ยอมแลกด้วยชีวิตและผลกระทบสุขภาพ รวมถึงการถูกตีตราและประณามว่าเป็นคนไร้ศีลธรรม
--- ‘ประชาธิปไตย’ คือประตูที่เปิดกว้างสู่ทางเลือก---
นอกจากตัวบทกฎหมายและข้อถกเถียงเรื่องศีลธรรมแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง แต่กลับเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องนี้ นั่นก็คือ “ความเป็นประชาธิปไตย”
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เชื่ออย่างหนักแน่นว่า ประชาธิปไตยมีส่วนสำคัญมากในการผลักดันให้ประตูทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ในบ้านเราเปิดกว้างสำหรับทุกคน เพราะประชาธิปไตยในฐานะระบบที่เปิดกว้าง จะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนโต้เถียงกัน ร่วมกันวางกติกาในเรื่องนี้ว่าควรจะเป็นอย่างไร
ในทางกลับกันในระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยน้อยหรือไม่เป็นเลย รัฐเป็นผู้ตัดสินใจให้ว่าเรื่องไหนถูกเรื่องไหนผิด ทำให้การถกเถียงคิดใคร่ครวญถึงสถานการณ์ของผู้คนถูกตัดออกไป
“ถ้าเราเชื่อว่าพลเมืองมีความสามารถในการเลือกตัวแทนทางการเมือง ที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนได้ เหตุใดเราจึงไม่เชื่อว่าพลเมืองเพศสภาพหญิง มีความสามารถในการเลือกจัดการเรื่องเพศและการเจริญพันธุ์ของตัวเอง รวมถึงการเลือกจะไม่ตั้งครรภ์และเลือกยุติการตั้งครรภ์ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับร่างกายของเธอเอง” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว
ถึงตอนนี้แม้ในเชิงกฎหมายและนโยบายสาธารณะจะดูหยุดนิ่ง และดูเหมือนว่าการถกเถียงจะยังวนเวียนหนีไม่พ้นประเด็นเดิม แต่ในแง่ทางเลือกและการเข้าถึงบริการนั้น รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ บอกว่า ที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ผ่านการผลักดันของตัวแทนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ท่ามกลางกฎหมายที่ยังไม่ก้าวหน้า ทว่าหน่วยงานรัฐสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้
“ปัญหาการท้องไม่พร้อม ไม่ควรถูกแปะเอาไว้กับเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเยาวชน จากการรวบรวมข้อมูลและศึกษาวิจัย ทำให้พบว่าคนที่เผชิญปัญหานี้อีกไม่น้อย เป็นกลุ่มแม่บ้านอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่งงานมีครอบครัวมีสามีแล้ว ...
“ทุกคนต้องเปิดใจกว้าง มองให้เห็นความซับซ้อนของเรื่องนี้ ที่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อใดก็ตามที่สังคมไทยเปิดทางเลือกการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย จะทำให้ผู้ที่เผชิญกับสถานการณ์ท้องไม่พร้อม ได้พิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองได้ดีที่สุด” เธอกล่าวทิ้งท้าย
ความในย่อหน้าสุดท้าย ที่ผู้เขียนสรุปจบไว้อย่างแหลมคม
สถานการณ์ท้องไม่พร้อมและการเลือกยุติการตั้งครรภ์ ถูกห้อมล้อมความหมาย ข้อห้าม และการประณาม และความปรารถนาที่หลากหลาย การเลือก “ทางเลือก” มีแง่มุมเชิงอารมณ์และจิตใจที่ชับซ้อน
นโยบายของรัฐและมาตรการทางสังคมที่จะเอื้อต่อการตัดสินใจที่ลำบากยากเย็นของคนที่เผชิญสถานการณ์ ควรยึดหลัก “เห็นใจและเคารพสิทธิ
- 1074 views