ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.59 นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์การระบาดของโรคไข้ซิกา (Zika Fever) ว่ายังไม่เคยมีรายงานการระบาดของโรคไข้ซิกาในประเทศไทย โดยในปี 2555 - 2558 มีรายงานผู้ป่วย 2 - 5 ราย ขอเน้นย้ำว่าจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบในประเทศไทยนั้น สะท้อนถึงความตระหนัก มาตรการเฝ้าระวัง การวินิจฉัยโรค และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งระบบของประเทศเรานั้นได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โรคนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง ไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต มีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามทางองค์การอนามัยโลกยังไม่ยืนยันเรื่องนี้ แต่มีหลักฐานบางอย่างบ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการสมองเล็กในทารกแรกเกิด

ทั้งนี้โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อต่างๆ เช่น หัดเยอรมัน และไข้ขี้แมว เป็นต้น ก็อาจส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้ เช่น มารดาหากติดเชื้อหัดเยอรมัน ทารกที่เกิดมาอาจมีความพิการ ตาบอด หัวใจพิการ และมารดาที่ติดเชื้อไข้ขี้แมวทารกที่เกิดมาอาจมีความพิการทางสมองได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังมากกว่าคนปกติ ในด้านสุขอนามัย ไม่คลุกคลีคนป่วย ไม่คลุกคลีสุนัขและแมวจรจัด ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และฝากครรภ์ตามกำหนด 

ประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคนี้ ใน 4 ด้าน ได้แก่

1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา

2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา

3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด

และ 4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท

รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และความพร้อมด้านการดูแลรักษา ตลอดจนการควบคุมแมลงพาหะนำโรค ในส่วนมาตรการระหว่างประเทศนั้นเน้นการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้หลายประเทศในอาเซียนยังไม่มีระบบเฝ้าระวังทำให้ตรวจจับผู้ป่วยไม่ได้ ซึ่งแต่ละประเทศอยู่ในช่วงพัฒนาระบบเฝ้าระวังเช่นกัน โดยองค์การอนามัยโลกจะมีการหารือผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเพื่อพิจารณามาตรการ เพิ่มเติมสำหรับโรคไข้ซิกา ต่อไป

นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า ถึงแม้โรคไข้ซิกาจะมียุงพาหะคือยุงลายบ้านเช่นเดียวกับไข้เลือดออก แต่โอกาสที่จะเกิดการระบาดของไข้ซิกานั้นมีน้อย เนื่องจากประเทศไทยไม่มีแหล่งรังโรคของไวรัสซิกา โดยโรคนี้มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4-7 วัน สั้นสุด 3 วันและยาว 12 วัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง อาจมีอาการอื่นๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ประชาชนทั่วไปอย่าตื่นตระหนก ขอให้เชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย ขออย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทางและโปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์ จนทำให้เด็กเกิดความพิการดังกล่าว อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค มีความห่วงใย มิได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเรื่องโรคไข้ซิกา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับโรคไข้ซิกา โดยเน้นย้ำให้หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเดินทางไปประเทศมีการระบาด หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง รวมทั้งแนะนำวิธีป้องกันโรคไข้ซิกาที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในและนอกบ้านหากจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่ ที่มีการระบาดของโรคต้องระมัดระวังป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายาป้องกันยุง ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด หากมีอาการข้างต้นสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

สำหรับประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้ซิกาตามรายงานขององค์การอนามัยโลก  ขณะนี้มี 23 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ประเทศบาร์เบโดส สาธารณรัฐโบลิเวีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน สาธารณรัฐเอกวาดอร์ สาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ ดินแดนเฟรนซ์เกียนา ดินแดนกัวเดอลุป สาธารณรัฐกัวเตมาลา สาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา สาธารณรัฐเฮติ สาธารณรัฐฮอนดูรัส เกาะมาร์ตีนิก สหรัฐเม็กซิโก สาธารณรัฐนิการากัว สาธารณรัฐปานามา สาธารณรัฐปารากวัย เครือเปอร์โตริโก เกาะเซนต์มาร์ติน สาธารณรัฐซูรินาเม หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐเวเนซูเอลา

ขอบคุณภาพจากกรมควบคุมโรค