นสพ.ฐานเศรษฐกิจ : สปส.เล็งขยายลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงเพิ่ม เพื่อเพิ่มผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยง หวังเปิดทางลงทุนทางตรงใน ตปท.และอสังหาริมทรัพย์เพื่อบริหารได้ โดยอยู่ระหว่างแก้ระเบียบ เผยการลงทุนปี 59 ยังคงให้ความระมัดระวังจากตลาดการเงินที่ยังผันผวน พร้อมลงทุนทางเลือกใหม่ๆ-กองทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ
นางนิยดา เสนีย์มโนมัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารการลงทุน รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนการปฏิรูปการลงทุนของกองทุนประกันสังคมว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2558-2562) เมื่อสิ้นสุดปีที่ 5 ของแผน ที่ปรึกษาได้แนะว่า สปส.ควรจะขยายการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงให้มีสัดส่วนเกินกว่า 30% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 22% ซึ่งขณะนี้กำลังค่อยๆ ปรับสัดส่วน นอกจากนี้ สปส.ยังอยู่ระหว่างแก้ไขระเบียบเพื่อเพิ่มช่องการลงทุนของ สปส.ให้หลากหลายยิ่งขึ้น สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้เพิ่มการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ เช่นการที่รัฐจะออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์
"ถ้าไม่แก้ระเบียบ ก็จะไม่สามารถรองรับการลงทุนช่องทางใหม่ๆ ได้ และเพื่อกระจายความเสี่ยงให้สามารถลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ จากปัจจุบันที่การลงทุนในต่างประเทศต้องทำผ่าน บลจ. อีกตัวหนึ่งที่แก้คือให้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทางตรงได้ เพราะปัจจุบันยังได้เฉพาะที่เป็นหน่วยลงทุนอสังหาฯ"
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 กองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุนสะสมทั้งสิ้น 1.39 ล้านล้านบาท สัดส่วน 78% หรือคิดเป็นเงินลงทุน 1.08 ล้านล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง อาทิ ตั๋วเงินคลัง/พันธบัตรรัฐบาล/พันธบัตรธปท., พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ, หุ้นกู้เอกชนอยู่ในอันดับความน่าเชื่อถือ และสัดส่วน 22% เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง คิดเป็นวงเงิน 3.04 แสนล้านบาท ได้แก่ เงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน, หุ้นสามัญ และหน่วยลงทุนต่างๆ เช่น อสังหา ริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน หน่วยลงทุนต่างประเทศ
ผลดำเนินงานในรอบปี 2558 กองทุนมีผลตอบแทนที่รับรู้แล้ว 4.49 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1. ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้ 3.96 หมื่นล้านบาท และ 2. เงินปันผลและกำไรจากตราสารทุน 5.26 พันล้านบาท
ด้านนางสาวชมพูเพ็ญ ศิริธร หัวหน้ากลุ่มงานลงทุน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการลงทุนในปี 2559 ว่า ยังต้องให้ความระมัดระวัง เนื่องจากตลาดการลงทุนยังมีความผันผวนสูง จากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง โดยที่ สปส.ยังคงหาช่องทางในการลงทุนเพิ่ม เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้แก่กองทุนและกระจายการลงทุน จากตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ โดยจะขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และการลงทุนทางเลือกให้มากขึ้นรวมถึงการลงทุนกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันกองทุนประกันสังคมสามารถเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบกองทุนรวม และอยู่ระหว่างแก้ไขระเบียบจัดหาผลประโยชน์เพื่อเพิ่มรูปแบบการลงทุน เช่น หน่วยทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure trust) และกิจการเงินร่วมลงทุน (Private equity) เป็นต้น
"การลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ จะเป็นอีกช่องทางการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาวและสอดคล้องกับการจ่ายสิทธิประโยชน์ของกองทุนในอนาคตต่อไป"
อนึ่งปัจจุบันกองทุนประกันจ่ายสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, สงเคราะห์บุตรและชราภาพ และการว่างงาน
ขอบคุณที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 18 - 20 ก.พ. 2559
- 17 views