ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส.เชื่อมโยงหน่วยงานสาธารณสุขกับสถาบันการศึกษา ทั้งด้านสุขภาพ สังคม เป็นเครือข่ายวิจัย เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการ เกิดความร่วมมือด้านการเรียนการสอน โดยเฉพาะการสร้างงานวิจัยระหว่างสถาบันต่างๆ ที่จะชี้ทิศทางการพัฒนาประเทศ

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวในการประชุมเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ ครั้งที่ 2 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต ว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์มีความรู้ทางด้านระบบสาธารณสุขไม่มากพอ เนื่องจากอาจารย์แพทย์จะมุ่งการเรียนการสอนตามหลักสูตร เช่น การวินิจฉัยโรค การดูแลรักษา เป็นต้น ทำให้การเรียนการสอนในมิติทางสังคมลดน้อยลงไป การขาดการเชื่อมโยงตรงนี้ทำให้บัณฑิตที่จบมา ขาดความพร้อมในการทำงานแบบองค์รวม

ทาง สวรส.จึงมีแนวคิดในการพัฒนาเชื่อมโยงให้หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งทางด้านสุขภาพ สาธารณสุข สังคม ฯลฯ ได้มาร่วมทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการ เกิดความร่วมมือด้านการเรียนการสอน โดยเฉพาะการสร้างงานวิจัยระหว่างสถาบันต่างๆ ที่จะชี้ทิศทางการพัฒนาประเทศ

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สำหรับในภาพรวมของประเทศ รัฐบาลเตรียมที่จะปฏิรูประบบวิจัยสุขภาพ เพื่อต้องการจัดระบบเชิงโครงสร้างให้ลงตัว ดังนั้น สวรส.จึงได้เสนอแนวทางการบูรณาการนโยบายสุขภาพ ด้านระบบการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีการแบ่งระดับชั้นของผู้ที่เกี่ยวข้องการวิจัยได้แก่ ภาคนโยบาย แหล่งสนับสนุนทุนวิจัย หน่วยงานวิจัย ผู้วิจัย และหน่วยงานขับเคลื่อนหรือใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เชื่อว่าเมื่อมีการแบ่งบทบาทกันชัดเจนก็จะสามารถออกแบบแผนงานได้ง่ายขึ้น สวรส.มีบทบาทเป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย พร้อมเป็นตัวกลางประสานให้เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาการวิจัยระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมองไปถึงเครือข่ายที่นอกเหนือไปจากวงการแพทย์และสาธารณสุข เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา เป็นต้น 

สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้ สวรส.ได้เชิญเครือข่ายวิจัยมาร่วมนำเสนอการดำเนินงานในพื้นที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น การวิจัยในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการวิจัยการสนับสนุนกลไกเพื่อการปรับสภาพบ้านเพื่อเพิ่มสมรรถนะของคนพิการด้านการเคลื่อนไหวและผู้สูงอายุ โดย ผศ.ดร.พญ.ศิรินาถ ตงศิริ ม.มหาสารคาม, การวิจัยด้านคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ โดย พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) และ พญ.ภัทรวลัย ตลึงจิตร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมนำเสนอประสบการณ์วิจัยและพัฒนาถุงวัดปริมาตรเลือดภายหลังคลอดเพื่อวินิจฉัย เครื่องมือการดูแลผู้ป่วยตกเลือดหลังคลอดกับราชวิทยาลัยสูติศาสตร์ ให้ความแม่นยำเหมาะกับเวชปฏิบัติในปัจจุบัน วินิจฉัยได้รวดเร็วป้องกันภาวะช็อก ตกเลือดหลังคลอด โดยใช้นำร่องใน 148 รพ.เครือข่าย โดยเตรียมพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาต่อในระยะที่ 2 ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมการขับเคลื่อนเป็นแนวทางปฏิบัติระดับกระทรวงและภูมิภาคต่อไป

“เป้าประสงค์สำคัญจากการเชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ ต้องการเห็นภาพการพัฒนาของบริการด้านสุขภาพ ที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างครอบคลุม มีคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ตอบสนองความคาดหวัง มีประสิทธิภาพดีขึ้น การคุ้มครองความเสี่ยงทางด้านการเงินการคลังในระบบสุขภาพ เป็นต้น เป็นงานที่ท้าทายในการชี้ทิศทางระบบสุขภาพของประเทศ และการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่า” นพ.พีรพล กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เสนอแนวทางเพื่อการพัฒนาเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ เพื่อให้สามารถองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นต่อการพัฒนานโยบายและระบบสุขภาพของประเทศไทย จุดเน้นสำคัญอันดับต้นๆ คือ การช่วยกันทำ 3 ประเด็นสำคัญให้เกิดความชัดเจนตรงกันก่อน คือ การกำหนดเป้าหมาย ปณิธานความมุ่งมั่นของเครือข่ายวิจัยระบบสุขภาพ (Purpose) บุคคลที่เกี่ยวข้องกับทำงานของเครือข่ายฯ (Principle) และหลักการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายฯ ผู้มีส่วนร่วม ผู้ร่วมกิจกรรม (Participant) จากนั้นค่อยขยับมาสู่การทำแผนงาน การกำหนดวิธีปฏิบัติ และวิธีทำงานร่วมกันของเครือข่ายฯ (Practice) ซึ่งควรมีการจัดระบบให้แหล่งทุนวิจัยกับผู้รับทุนวิจัยให้มีทิศทางการทำงานสอดคล้องกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง