ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

www.weforum.org : ในระหว่างที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจกับการประชุมที่เมืองดาวอสนี้หลายคนคงนึกถึงจุดเด่นของสวิตเซอร์แลนด์ในแง่ของการเป็นประเทศแห่งบริการที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบสุขภาพของสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งถือกันว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

“เหตุใดระบบสุขภาพบางประเทศจึงสามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างล้นหลามเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ?” ภาพประกอบโดย : REUTERS/Jonathan Bachman

ผลลัพธ์ดังกล่าวย่อมเป็นที่คาดหวังได้เมื่อพิจารณาจากรายจ่ายด้านสุขภาพของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสถิติของธนาคารโลกชี้ว่าสูงถึง 9,276 ดอลลาร์ต่อคน (ราว 327,835 บาทต่อคน) หรือเทียบเท่าประมาณร้อยละ 11.5 ของ GDP รวม

แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนพิศวงกลับเป็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่าหลายประเทศสามารถบรรลุผลลัพธ์ระดับเดียวกันด้วยรายจ่ายเพียง 1 ใน 4 หรือต่ำกว่านั้น เช่น ฮ่องกง (1,716 ดอลลาร์ต่อคนหรือร้อยละ 6 ของ GDP), อิสราเอล (2,599 ดอลลาร์ต่อคนหรือร้อยละ 7.2 ของ GDP) และสิงคโปร์ (2,507 ดอลลาร์ต่อคนหรือร้อยละ 4.6 ของ GDP) โดยทุกประเทศล้วนมีอายุคาดเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ระหว่าง 82-83 ปี

คำถามก็คือ...เหตุใดระบบสุขภาพบางประเทศจึงสามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างล้นหลามเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ ?

ต้นทุนระบบสุขภาพ ร้อยละของ GDP (ตัวเลขปี 2556) เทียบกับอายุคาดเฉลี่ย (ตัวเลขปี 2556)

 

แม้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพเป็นผลจากหลายปัจจัย รวมถึงอาหาร และความใส่ใจออกกำลังกาย แต่ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าความแตกต่างด้านโครงสร้างของตัวระบบสุขภาพก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน ลองคิดดูสิว่ามีเหตุผลอื่นใดอีกหรือที่ทำให้ผลลัพธ์แตกต่างกันในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเดียวกัน ?

การทำงานในระบบสุขภาพร่วม 60 ประเทศตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนได้รับประสบการณ์ตรงจากประเทศที่อยู่ปลายสุดของมาตรวัดทั้ง 2 ด้าน (ทั้งประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและต่ำสุด)

และแม้เป็นการยากที่จะบอกว่าระบบสุขภาพของประเทศใดดีที่สุด แต่การพิจารณาข้อมูลที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตัวเลขสถิติก็เผยให้เห็นปัจจัยบางอย่างที่น่าจะช่วยยกระดับสุขภาพให้สูงขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลงได้

ความสำเร็จในระบบสุขภาพของอิสราเอลทำให้เรามองเห็นว่าระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุด นโยบายระบบสุขภาพที่กำหนดให้ความสะดวกในการเข้าถึงแพทย์ครอบครัวภายในชุมชนเป็นเป้าหมายสำคัญของงานบริการ รวมถึงการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมสุขภาพ 4 แห่งคอยทำหน้าที่อุดหนุนค่ารักษาและให้บริการดูแลรักษาทุกประเภททำให้อิสราเอลมีงบประมาณเพียงพอที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีและไกลจากโรงพยาบาล แทนที่จะนำเงินนั้นมาใช้สร้างโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่าเดิม

รายจ่ายระบบสุขภาพโดยรวม ร้อยละของจีดีพี (ตัวเลขปี 2556)

การใช้เทคโนโลยีควบคุมต้นทุนก็เป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ โดยส่งผลดีต่อความรวดเร็วในการให้บริการ ปรับปรุงความแม่นยำและเอื้อต่อการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่อาจช่วยพยากรณ์ความจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง  

สำหรับข้อนี้ต้องถือว่าสิงคโปร์ก้าวนำประเทศอื่นไปหลายปี ดังที่ผลการเปรียบเทียบความเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีระบบสุขภาพระหว่างประเทศยกให้สิงคโปร์รั้งอันดับหนึ่งในทุกตัวชี้วัด และปัจจุบันโรงพยาบาล คลินิก และศูนย์ดูแลผู้ป่วยในสิงคโปร์ก็กำลังทยอยเข้าสู่ระบบทะเบียนผู้ป่วยเดียวกัน ซึ่งนอกจากผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวแล้ว ในอีกทางหนึ่งยังเอื้อต่อการติดตามผู้ป่วยในแบบองค์รวมแทนการเก็บประวัติผู้ป่วยเป็นครั้งคราวตามที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ และเป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถติดตามผู้ป่วยได้เลยจนกว่าผู้ป่วยจะกลับไปยังสถานพยาบาลเดิมอีกครั้ง

อินเดียก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จ ถึงแม้ไม่มีใครปรารถนาจะได้รับบริการดูแลรักษาดังที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ได้รับ แต่เครือข่ายโรงพยาบาลบางแห่งที่เริ่มก่อร่างขึ้นในอินเดียก็แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการให้บริการที่สูงมาก โดยข้อมูลจากฮาร์วาร์ดบิสสิเนสรีวิวชี้ว่า โรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น นารายานา อพอลโล ฟอร์ติส และอะราวินด์สามารถผ่าตัดรักษาผู้ป่วยด้วยผลลัพธ์ที่สูงเกือบเทียบเท่าโรงพยาบาลในซีกโลกตะวันตก หากแต่มีต้นทุนค่ารักษาเพียง 1 ใน 10 หรือต่ำกว่านั้น

จากที่ได้เฝ้ามองโรงพยาบาลดังกล่าวเติบโตมาแล้วระยะหนึ่งทำให้ผู้เขียนมองว่า ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการหลอมรวมความช่ำชองในการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก (แพทย์โรงพยาบาลอาราวินด์ผ่าตัดรักษาตาราวคนละ 1,400 ครั้งต่อปี  เทียบกับแพทย์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีตัวเลขที่ราว 400 ครั้ง) และการไม่เพิกเฉยต่อเหตุแห่งความสิ้นเปลือง ไม่ว่าจะด้วยการใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตขึ้นเอง ตลอดจนการตรวจและรักษาที่ไม่จำเป็นและไม่ช่วยให้ผู้ป่วยมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

เมื่อหันมาดูประเทศที่อยู่อีกปลายของมาตรวัดซึ่งมีรายจ่ายด้านสุขภาพที่สูงแต่กลับได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า เช่น แอฟริกาใต้ (ร้อยละ 8.9 ของ GDP สำหรับอายุคาดเฉลี่ย 56.7 ปี) รัสเซีย (ร้อยละ 6.5 สำหรับ 71 ปี) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 17.2 สำหรับ 79 ปี) ก็ทำให้พบลักษณะร่วมกันประการหนึ่งนั่นคือ ความบกพร่องในการจัดสรรทรัพยากรทั้งในรูปแบบการจัดสรรทรัพยากรเฉพาะสำหรับประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (มองข้ามกลุ่มที่เหลือ) หรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง (มักเป็นโรงพยาบาล) จนต้องดูดงบประมาณจากส่วนอื่นทั้งที่น่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า

เมื่อมองในภาพรวมก็จะเห็นได้ว่าทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีข้อบกพร่องด้านการบริหารงบประมาณระบบสุขภาพอยู่บ้างไม่มากก็น้อย จากการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกเมื่อปีก่อน คณะมนตรีวาระสากลว่าด้วยอนาคตของภาคการสาธารณสุขซึ่งผู้เขียนเป็นสมาชิกได้ศึกษาผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างกองทุน ผู้ให้บริการสุขภาพ ผู้ป่วย บริษัทยา ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อปัญหาเรื้อรังที่ฉุดรั้งศักยภาพของโลกในการพัฒนาสุขภาพด้วยต้นทุนที่ยั่งยืน

แม้จากการศึกษาทำให้พบตัวอย่างความขัดแย้งล้นหลาม แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้พบตัวอย่างที่จะเป็นกรณีศึกษาสำหรับแก้ปัญหาของระบบสุขภาพ ทั้งการขยายผลตอบแทนสำหรับผู้ให้บริการสุขภาพเพื่อที่จะได้รับค่าตอบแทนตามคุณภาพการรักษาแทนที่จะได้รับตามจำนวนครั้งของการรักษา (การทำสัญญาตามคุณค่าของบริการ) แก้ไขสมดุลอำนาจที่ทำให้ผู้ป่วยและผู้บริโภคไม่มีส่วนในการดูแลรักษาหรือส่งเสริมให้พวกเขามีพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ตลอดจนการก่อตั้งองค์กรในภาคสาธารณสุข ค้าปลีก สื่อสารโทรคมนาคม และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันก้าวไปสู่สังคมสุขภาพดี

ข้อมูลจากการศึกษานี้ได้นำไปหารือร่วมกับคณะผู้แทนในการประชุมที่เมืองดาวอสและจะนำเสนอรายงานฉบับสุดท้ายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยผู้เขียนหวังว่าข้อมูลจากการศึกษาจะกระตุ้นให้ผู้คนเหลียวมาใคร่ครวญระบบสุขภาพในประเทศของตนเทียบกับในต่างประเทศ เพื่อที่จะได้เรียนรู้จากแนวทางอื่นและตระหนักว่า การยกระดับบริการสุขภาพให้ดีขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง

ที่มา : www.weforum.org

แปลและเรียบเรียงโดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com

เรื่องที่เกี่ยวข้อง