ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์แนวหน้า : คลังจับตากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เสี่ยงเจอปัญหาสภาพคล่องในอนาคต เหตุภาระผูกพันขยายตัวต่อเนื่อง คนสูงอายุเพิ่ม รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการควบคุมรายจ่าย สร้างรายได้เพิ่ม ลดเงินอุดหนุนและภาระการคลัง

เมื่อวันที่ 10 พ.ค.59 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังจับตาสถานะทางการเงินของกองทุนนอกงบประมาณ 3 แห่งอย่างใกล้ชิด ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เนื่องจากทั้ง 3 กองทุนมีขนาดใหญ่หากประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงและภาระทางการคลังให้แก่รัฐบาลได้ เพราะภาระดังกล่าวเป็นภาระผูกพันตามกฎหมายไม่สามารถตัดลดได้ ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง

สำหรับแนวทางลดความเสี่ยงทางการคลังนั้น รัฐบาลจะต้องมีมาตรการควบคุมการขยายตัวของรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้ของกองทุนที่เป็นสวัสดิการสังคมทั้งกองทุนประกันสังคม ควรพิจารณาเพิ่มอายุการเกษียณเพื่อขยายเวลาการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุน รวมถึงการยกเลิกเพดานเงินเดือนของการจ่ายเงินสมทบเพื่อเพิ่มรายได้ของกองทุน ส่วนกองทุน สปสช. ควรศึกษาแนวทางการเพิ่มรายได้ เช่น การร่วมจ่ายค่าบริการเพื่อเป็นเครื่องมือปรับพฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพของผู้ประกันตน ลดการใช้บริการที่ไม่จำเป็น

ส่วนกรณีของ กยศ. จะต้องพัฒนาการบริหารจัดการการให้กู้เงิน โดยคัดกรองผู้กู้ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้กู้เห็นคุณค่าของเงินและไม่สร้างปัญหาในการจ่ายคืนในอนาคต, มีมาตรการในการจัดเก็บหนี้ที่เหมาะสมและเป็นธรรม, คำนึงถึงการบริหารจัดการเงินทุนที่มีอยู่ให้สามารถจัดหาผลประโยชน์ได้มากที่สุด เพื่อให้กองทุนมีเงินทุนและสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

ทั้งนี้ยอมรับว่าทั้ง 3 กองทุนมีความเสี่ยงและอาจประสบปัญหาทางการเงินได้ในอนาคต ทั้งกองทุน สปสช.ที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการพึ่งพางบประมาณของรัฐบาล สวนทางกับค่าใช้จ่ายของกองทุนที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุและมีแนวโน้มความต้องการบริการทางการแพทย์ หากอนาคตโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ จะทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่กองทุนประกันสังคมจะได้รับผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน เพราะรายจ่ายส่วนใหญ่เป็นประมาณการหนี้สิน ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพและค่าประโยชน์ทดแทน แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากงบสมทบจากนายจ้าง ผู้ประกันตนและเงินสมทบจากรัฐบาล หากรายได้ทยอยปรับลดลงไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรและกำลังแรงงาน ส่งผลให้ระยะยาวเป็นภาระให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สำหรับ กองทุน กยศ. แม้จะได้รับการจัดสรรงบจากรัฐบาลลดลง แต่วัตถุประสงค์ที่ต้องการสนับสนุนให้เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี ลดปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา และเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพ จึงจะเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล แต่ปัจจุบันกระบวนการเรียกเก็บหนี้จากผู้กู้ยืมไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ที่มา : www.naewna.com

เรื่องที่เกี่ยวข้อง