ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอเจตน์” ระบุ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข ยังไม่คืบ สธ.อยู่ระหว่างประชาพิจารณ์ความเห็น ก่อนสรุปส่ง สนช.พิจารณา ชี้ยังต้องใช้เวลานาน เหตุยังมีความเห็นแย้ง พร้อมเผยสาระสำคัญ ไม่มีการจัดตั้งกองทุนใหม่ แต่รวมบริหารจัดการใช้งบแต่ละกองทุนที่มีอยู่เดิม ไม่เรียกเก็บเงินกองทุนจากผู้ให้บริการ เพิ่มเพดานเงินชดเชย พร้อมตั้ง คกก.พิจารณามี รมว.สธ.เป็นประธาน ย้ำหากผู้เสียหายรับเงินชดเชย ไม่มีสิทธิฟ้องศาลต่อ 

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ… ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์โดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งภายหลังจากที่ได้ข้อสรุปแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจึงจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป คาดว่ากระบวนการนี้ยังต้องใช้เวลาอีกพอควร เนื่องจากในรายละเอียดยังมีฝ่ายที่ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันในหลายประเด็น แต่มีเจตนารมณ์ที่เห็นตรงกันคือ เพื่อลดการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางการแพทย์ขึ้นสู่ชั้นศาล โดยยังคงหลักการที่ไม่พิสูจน์ถูกผิดหากมีความเสียหายเกิดขึ้น

ทั้งนี้สาระร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ… จะไม่มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ รวมถึงการเรียกเงินจากผู้ให้บริการ แต่จะนำงบประมาณเดิมที่มีอยู่ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ใช้สำหรับเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นมาบริหารจัดการใหม่ รวมถึงของกองทุนประกันสังคมมารวมบริหารจัดการใหม่ ซึ่งต้องแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ และ พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกัน

สำหรับในส่วนของกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อเป็นสวัสดิการคุ้มครองข้าราชการ ทั้งนี้เพื่อให้การเยียวยาความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขครอบคลุมทุกสิทธิทั้งหมด นอกจากนี้ยังให้ครอบคลุมการบริการในทุกวิชาชีพในระบบสาธารณสุข

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ในการเยียวยาความเสียหาย ตามร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ… เห็นว่า ควรมีการขยับเพิ่มเงินชดเชยความเสียหายให้กับผู้ป่วย จากเดิมในมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ กำหนดเพดานไว้ที่ 400,000 บาท จะต้องมีการขยับเพิ่มขึ้นและต้องเป็นจำนวนเงินที่มากพอควร ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายไม่ให้ลำบาก ขณะเดียวกันต้องลดการฟ้องร้องต่อในชั้นศาล โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีคุ้มครองผู้บริโภค ที่ง่ายต่อการยื่นฟ้องร้องและผู้ฟ้องไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยให้ผู้เสียหายเลือกว่าจะรับการชดเชยตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือจะฟ้องร้องต่อในชั้นศาล

“ในการชดเชยความเสียหายนั้นจะไม่รวมกรณีผลกระทบที่เกิดขึ้นตามปกติในการรักษาโรคและผลกระทบซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการรับบริการสาธารณสุขตามมาตรฐาน ซึ่งในการพิจารณาจะมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุข เป็นผู้พิจารณา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนจากกองทุนสุขภาพ ผู้แทนสภาพวิชาชีพ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการร่วมพิจารณา โดยมีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นเลขานุการและกรรมการ ทั้งนี้เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบด้านในการคุ้มครองผู้ป่วย” นพ.เจตน์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการพิจารณาเงินชดเชยของส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อให้การชดเชยช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นไปโดยเร็ว

นพ.เจตน์ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาจำนวนเงินชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขนั้น ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้คำนึงถึงหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประกอบกับการพิจารณาผลกระทบและความเดือดร้อนที่ได้รับ รวมถึงระดับความรุนแรงของความเสียหาย โดยในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับการชดเชยไม่พอใจจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อตามหลักเกณฑ์ได้ โดยภายหลังจากที่ผู้ได้รับความเสียหายยินดียอมรับเงินชดเชยแล้ว สิทธิการฟ้องร้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีทั้งปวงเป็นอันต้องระงับไป