ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.โชคชัยประกาศรับส่งต่อผู้ป่วยสูติ-นรีเวช โดยเฉพาะเคสผ่าตัดนรีเวชที่ไม่ซับซ้อนสามารถผ่าตัดได้เร็ว ไม่ต้องรอคิว 2-3 เดือน

จากการที่มีการส่งต่อข้อความในโลกออนไลน์เป็น capture หน้าจอของหมอคนหนึ่งใน จ.นครราชสีมา เป็นข้อความระบุว่าโรงพยาบาลโชคชัยยินดีรับส่งต่อผู้ป่วยนรีเวชจากโรงพยาบาลชุมชนอื่นใกล้เคียง หรือตามความสะดวกของผู้ป่วย 

ทางผู้สื่อข่าวได้สอบถามข้อมูลไปยังแพทย์ผู้โพสต์ข้อความ คือ นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลโชคชัย จ.นครราชสีมา ซึ่งกล่าวว่าเป็นผู้โพส์ข้อความดังกล่าวจริงโดยไม่คิดว่าจะมีใครสนใจ แค่ต้องการสื่อสารไปยังน้องๆหมอโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียงว่าพี่ๆ และทีมพยาบาล เต็มใจช่วยให้คำปรึกษาและรับส่งต่อผู้ป่วยสูติ-นรีเวช  โดยเฉพาะเคสผ่าตัดนรีเวชที่ไม่ซับซ้อน โดยเคสนรีเวชสามารถส่งมาได้ในวันจันทร์-พฤหัส ส่วนเคสอื่นๆ ให้ติดต่อมาก่อน ซึ่งผู้ป่วยจะได้คิวผ่าตัดที่เร็วขึ้นกว่าการส่งไปโรงพยาบาลใหญ่แน่นอน ทั้งนี้เพียงต้องการให้น้องสามารถทำงานอย่างสบายใจขึ้น และเพื่อช่วยเหลือคนไข้ไม่มีจุดประสงค์อื่น

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลโชคชัยซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ได้ช่วยรับส่งต่อคนไข้จากอำเภอใกล้เคียง 3 อำเภออยู่แล้ว เดิมทีมีแพทย์เฉพาะทางสูติแพทย์คนเดียว และกุมารแพทย์คือ พญ.รัศม์นรี อีก 1 คน แต่ในเดือนนี้มีคุณหมอรัตนา สูติแพทย์ใหม่มาประจำที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอีก และได้รับจัดสรรตำแหน่งน้องๆพยาบาลเพิ่ม เมื่อพูดคุยกันในทีมแพทย์และพยาบาลและปรึกษากับท่านผู้อำนวยการแล้ว จึงอยากขยายขอบเขตการบริการ เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียงให้คนไข้เข้าถึงการดูแลรักษาที่ดีใกล้บ้านได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยถ้าเป็นโรคหรือภาวะที่สามารถให้การดูแลได้ ก็ยินดีรับส่งต่อ และดูแลต่อให้ นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะขยายการช่วยออกตรวจคลินิกครรภ์ความเสี่ยงสูงไปยัง รพ.ชุมชนอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย

“ถ้าคนไข้ไม่สะดวกไปโรงพยาบาลใหญ่ เมื่อส่งมาที่นี่ ตรวจแล้วถ้าต้องผ่าตัด ก็ผ่าหรือนัดผ่าได้เลย ต่างกับโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งอาจต้องรอนาน 2-3 เดือน คนไข้และญาติที่มาเฝ้าไม่ต้องไปไกล ส่วนถ้าเป็นคนไข้ที่ไม่ต้องผ่าตัด คนไข้ก็สามารถเดินทางได้สะดวก รอคิวไม่นาน และมีแพทย์เฉพาะทางตรวจติดตามให้ใกล้ชิด” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ โรงพยาบาลโชคชัยได้จัดตั้งและพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในเครือข่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยด้านสูติ-นรีเวช สร้างระบบให้คำปรึกษาและระบบส่งต่อผู้ป่วยจากอีก 3 โรงพยาบาลชุมชนข้างเคียง เพื่อลดการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด โดยมีสถิติการรับส่งเฉพาะเคสผู้ป่วยฉุกเฉิน/ผู้ป่วยที่ต้องรับไว้รักษาในโรง พยาบาล 400-500 ราย/ปี ผู้ป่วยนอกหลายพันครั้ง/ปี สถิติการผ่าตัด 600-700 ราย/ปี 

นอกจากนั้นยังร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่าย จัดตั้งคลินิกฝากครรภ์เสี่ยงสูง-ผู้ป่วยนรีเวชในโรงพยาบาลรอบข้าง และออกตรวจโดยสูติแพทย์จากโรงพยาบาลโชคชัย ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งต้องเดินทางไปกลับ 60-120 กิโลเมตร รวมทั้งรับปรึกษาและส่งต่อเคสนอกเวลาราชการจากโรงพยาบาลในเครือข่ายและโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ มาตลอด 10 ปี โดยทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการด้วยจิตอาสา นอกเหนือจากหน้าที่รับผิดชอบและภาระงานปกติ ของทีมสูติแพทย์ กุมารแพทย์ และพยาบาลห้องคลอด-ห้องผ่าตัด

นับเป็นตัวอย่างอันดีของการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชน และการจัดตั้งเครือข่าย-แบ่งปันทรัพยากร พึ่งพากันเองในกลุ่มโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก