ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘สูตินรีแพทย์​’ หนุนบัตรทองขยายสิทธิคัดกรอง ‘ดาวน์ซินโดรม’ ในแม่ทุกช่วงอายุ ระบุการคัดกรองมีหลายวิธี ควรพิจารณาความคุ้มค่า ชี้หากต่อรองราคาได้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลโชคชัย จ.นครราชสีมา กล่าวสนับสนุนแนวคิดการเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซิมโดรมแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ สปสช. ตอนหนึ่งว่า การขยายสิทธิให้ครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัยเป็นเรื่องดี เนื่องจากปัจจุบันสิทธิประโยชน์ครอบคลุมอยู่เฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือภาวะดาวน์ซินโดรมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับแม่ที่มีอายุน้อย

“แม้ว่ากลุ่มแม่อายุน้อยจะมีความเสี่ยงต่ำกว่ากลุ่มแม่ที่มีอายุมากก็จริง แต่ทุกวันนี้กลุ่มตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี ได้รับการตรวจคัดกรองเป็นพิเศษตามแนวทางการฝากครรภ์อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อตรวจพบส่วนใหญ่พ่อแม่จะขอยุติการตั้งครรภ์จึงมีทารกดาวน์เกิดใหม่ในคนไข้กลุ่มนี้ไม่มาก กลุ่มที่ยังเป็นปัญหาคือกลุ่มที่ไม่ได้รับการคัดกรองนี้” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว และว่า หากเป็นไปได้ก็ควรมีการส่งเสริมให้เกิดการคัดกรองให้ครอบคลุมทุกช่วงอายุ แต่ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะใช้วิธีคัดกรองอย่างไร และความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นอย่างไร

นพ.แมนวัฒน์ ยกตัวอย่างว่า จากตัวเลขคร่าวๆ แต่ละปีประเทศไทยมีการคลอดประมาณ 7 แสนราย ขณะที่การคัดกรองในปัจจุบันก็มีหลากหลายวิธี เช่น การอัลตราซาวด์ดูความหนาต้นคอเด็กตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ หรือการเจาะเลือดมาดูสารชีวเคมีต่างๆ หรือการเจาะเลือดแม่เพื่อตรวจโครโมโซมลูก และการเจาะน้ำคร่ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ แต่ละวิธีตรวจมีจุดเด่นและข้อจำกัดต่างกันไป โดยวิธีที่มีราคาถูกที่สุดคือการอัลตราซาวด์ ซึ่งมีความไวในการตรวจพบโรค 60-70% แต่มีข้อจำกัดคือต้องอาศัยสูติแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ส่วนที่แม่นยำที่สุดเกือบ 100% คือการเจาะน้ำคร่ำ แต่วิธีนี้มีความเสี่ยงต่อการแท้งอยู่พอสมควร คือ 1 ใน 200

สำหรับวิธีการคัดกรองโดยเจาะดูโครโมโซมในเลือดแม่ หรือ NIPT มีความไวมากถึง 99% แต่ค่าใช้จ่ายยังสูง ราวๆ รายละ 8,000 บาท และวิธีสุดท้ายคือการเจาะเลือดแม่ดูสารชีวเคมี ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้คัดกรองในกลุ่มอายุมากกว่า 35 ปีอยู่แล้ว มีความไวในการตรวจพบโรคประมาณ 80+% โดยค่า quad test ต่อรายประมาณ 4,000-5,000 บาท แต่เมื่อ สปสช.เข้ามาจัดการ ทำให้ราคาเหลือเพียง 1,300 บาทเท่านั้น

"วิธีเจาะเลือดแม่ดูสารชีวเคมี เป็นวิธีที่น่าสนใจที่จะนำไปใช้กับสตรีตั้งครรภ์ทุกกลุ่มอายุได้ โดยการคัดกรองก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ดังนั้นสามารถทำได้ทั่วประเทศ และที่สุดแล้วหากมีการคัดกรองในระดับประเทศจริง เช่น ปีละ 7 แสนราย แน่นอนว่าต้นทุนการตรวจคัดกรองย่อมถูกลงกว่าเดิม ส่วนตัวจึงคิดว่ามีความเป็นไปได้ และเมื่อทำไปแล้วจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน" นพ.แมนวัฒน์ กล่าว

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศ เช่น ในอังกฤษ จะมีการเจาะสารชีวเคมีทุกราย แต่การเจาะ NIPT ยังเป็นทางเลือกอยู่ และคนไข้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ถ้าประเทศไทยสามารถตรวจให้คนไข้ด้วย quad test หรือแม้แต่ NIPT โดยทำต้นทุนให้ต่ำลงอีก คิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก

"สถิติตอนนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมสะสมน่าจะ 7-8 หมื่นราย และเกิดใหม่ปีละ 1,000 รายทุกปี เคยมีงานวิจัยว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้แต่ละคนตลอดชีวิตประมาณ 2.5 ล้านบาท ไม่นับค่าเลี้ยงดูปกติ ค่าเสียโอกาสของครอบครัวและประเทศในการได้ทรัพยากรบุคคลมาทำงาน และความสูญเสียทางจิตใจตลอดชีวิตของพ่อแม่ที่มีลูกพิการ ซึ่งประเมินค่าไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อเทียบกับการตรวจคัดกรองคนละไม่กี่พันบาทน่าจะมีความคุ้มค่า และถ้าหางบไม่ได้ อาจไปขอแบ่งจากเงินที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้ไว้เลี้ยงลูกเดือนละ 600 บาทมาสองเดือน หรือแม้แต่ให้คนไข้จ่ายเองในราคาต้นทุน" นพ.แมนวัฒน์ กล่าว

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วก่อนเจาะตรวจคัดกรอง จะมีการพูดคุยกับแม่ถึงความเป็นไปได้ และทางเลือกต่างๆ เช่น เมื่อผลออกมาเป็นแบบนี้แล้ว โอกาสเป็นโรคจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ และก็ไปยืนยันต่อด้วยการเจาะน้ำคร่ำ ซึ่งหากผลการเจาะน้ำคร่ำออกมาแล้วเป็นดาวน์ซินโดรมจริง ก็ต้องมาคุยกันอีกทีว่าจะทำอย่างไรต่อ ตรงนี้เป็นข้อบ่งชี้หนึ่งที่จะยุติการตั้งครรภ์ แต่ที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เป็นแม่

“ตรงนี้ทำให้สามารถเตรียมความพร้อมตัวได้ เช่น คุณแม่ที่ตัดสินใจว่าจะท้องต่อ ก็จะได้เตรียมพร้อมและศึกษาแนวทางการเลี้ยงลูกที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมได้อย่างถูกต้อง” นพ.แมนวัฒน์ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็กดาวน์ซินโดรม 80% เกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 35 ปี หนุนขยายสิทธิคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย

หนุนขยายคัดกรองดาวน์ซินโดรมหญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่มวัย กรมวิทย์ฯ พร้อมเตรียมห้องแล็บรองรับ

ยืนยันคัดกรองดาวน์ซินโดรมหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัยคุ้มค่า ลงทุน 1 บ.ได้ผลตอบแทนมากถึง 18 บ.

 

ขอบคุณภาพจาก โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)