ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ณ เวลานี้คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธกระแสฟีเวอร์ “ตูน บอดี้สแลม” กับโครงการ “ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 รพ.ทั่วประเทศ” เพื่อระดมทุน 700 ล้านบาท บริจาคให้กับ รพ.ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ ตลอดเส้นทางของการวิ่ง ต้องบอกว่าอยู่ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ ต่อปัญหาระบบสุขภาพของประเทศไทย

นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล

นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ รพ.โชคชัย จ.นครราชสีมา หนึ่งในแพทย์ผู้ซึ่งทำงานอยู่ในระบบสาธารณสุขประเทศมากว่า 10 ปี สะท้อนมุมมองจากการวิ่งมาราธอนของนักร้องชื่อดังได้อย่างน่าสนใจ

“สิ่งที่คุณตูนทำตอนนี้ เมื่อดูความขาดแคลนทรัพยากรของระบบสุขภาพภาครัฐ คงไม่มีผลอะไรกับระบบมากนัก แต่หากมองผลด้านการสร้างความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพตนเองและการกระตุ้นให้คนทั้งประเทศรับรู้ หันมามองปัญหาขาดแคลนในระบบสาธารณสุข ตรงนี้สำคัญกว่า เพราะจะทำให้ประชาชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพที่เป็นอยู่”

"ขอบคุณคุณตูน คุณก้อย ทีมงานก้าวผู้อยู่เบื้องหลัง และคนไทยทุกคน...พวกคุณไม่ได้แค่ช่วยให้เงินโรงพยาบาล 11 แห่งนั้น แต่คุณช่วยเติมกำลังใจที่กำลังถดถอยให้กับหมอ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐทั้งประเทศ การที่พวกเราได้รู้ว่าคุณก็ทราบถึงภาระงานเกินกำลังทั้งที่ขาดแคลนปัจจัยต่างๆ เห็นใจ และเป็นกำลังใจให้พวกเรา ทำให้พวกเรามีแรงที่จะสู้ไปได้"

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตามหลักการสวัสดิการด้านสุขภาพต้องเป็นหน้าที่ของรัฐ โดยรัฐไม่สามารถปฏิเสธพันธกิจนี้ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดประเทศที่มีงบประมาณไม่มากนัก หลายหน่วยงานของรัฐของรัฐยังมีความขาดแคลนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรและบุคลากรอีกมาก งบประมาณที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาพร้อมกันในทุกด้านได้ ดังนั้นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องความขาดแคลนทางสาธารณสุข อาจจำเป็นที่ประชาชนและภาคเอกชนจะเข้ามาช่วยเสริมและสนับสนุนในส่วนที่ขาด แต่ทั้งนี้รัฐต้องไม่ผลักเป็นภาระของประชาชนและภาคเอกชน

ปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรในระบบสุขภาพที่ถูกสะท้อนจากการวิ่งในครั้งนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องแบกรับ ไม่เฉพาะการดูแลและรักษาผู้ป่วย แต่รวมถึงความกดดันในการทำงาน ซึ่งในปัจจุบันมีปัญหามากขึ้น เพราะด้วยลักษณะของสังคมและความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงสื่อสาธารณะทำได้ง่าย เมื่อมีสิ่งที่ไม่ถูกใจ เช่น คิวยาว รอนาน เจ้าหน้าที่แสดงพฤติกรรมไม่ถูกใจ ผลการรักษาไม่เป็นไปตามคาดหวัง เป็นต้น มักมีการตำหนิ แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงโดยเสรี เห็นได้จากข่าวต่างๆ ที่ปรากฏออกมาเป็นระยะ หรือตามหน้าเพจของ รพ.ต่างๆ

ทั้งที่บุคลากรทางการแพทย์แต่ละวันต่างทำงานหนักภายใต้ทรัพยากรขาดแคลน และบุคลากรไม่เพียงพอ ทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนและฟ้องร้องจากการรักษาและดูแลผู้ป่วย

ทำให้สิ่งที่ขาดแคลนซึ่งมากกว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ในขณะนี้ คือกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน ภาระงานที่เกินกำลัง และความกดดันดังกล่าว นำมาสู่การไหลออกของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

สถานการณ์ข้างต้นนี้จำเป็นต้องเร่งแก้ไข ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต่างรู้สึกขอบคุณคุณตูนที่ทำให้เกิดการสะท้อนปัญหาไปยังสังคม หากผู้ป่วยและญาติเกิดความเข้าใจและหันกลับมาเห็นใจผู้ปฎิบัติงาน แทนการระบายและตำหนิ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น

นอกจากนี้ผลที่ตามมายังทำให้ภาครัฐหันมาจริงจังกับการแก้ไขปัญหามากขึ้น โดยในส่วนของเงินบริจาคนั้น แต่เดิมมีเพียงการบริจาคด้านการศึกษาและการกีฬาเท่านั้นที่ผู้บริจาคสามารถนำไปหักภาษีได้ 2 เท่า แต่ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและกรมสรรพากรได้เสนอมาตรการขอลดหย่อนภาษี ให้ผู้บริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลสามารถนำไปหักภาษีได้ 2 เท่าเช่นกัน เพื่อดึงดูดให้มีผู้บริจาคเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้

ขณะเดียวกันต้องมีแนวทางให้โรงพยาบาลบริหารจัดการได้โดยสะดวก ไม่ติดข้อบังคับต่างๆ ในการนำเงินมาใช้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ผู้บริจาค ในปัจจุบัน รพ.สังกัด สธ.จะเป็นรูปแบบการเข้าสู่เงินบำรุง รพ. ซึ่งมีปัญหาในการเบิกจ่าย ขาดความคล่องตัว ในขณะที่โรงเรียนแพทย์ อย่าง รพ.ศิริราช, รพ.รามาธิบดี และ รพ.พระมงกุฎฯ จะจัดเป็นมูลนิธิเพื่อดำเนินการ ซึ่งนอกจากจะดึงให้มีผู้ร่วมบริจาคเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเกิดความคล่องตัวในการใช้เงินบริจาคมากกว่า

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนของ รพ. ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงมากและมีการกล่าวโทษสาเหตุต่างๆ อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บริหารเงินไม่ดี และอื่นๆ แต่กลับไม่ยอมรับว่าข้อเท็จจริงแล้วเกิดจากงบประมาณที่ลงสู่ระบบสุขภาพของประเทศไม่เพียงพอจริงๆ โดยงบประมาณประเทศนั้นมีจำกัดและต้องกระจายให้กับทุกกระทรวงเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งทางออกของปัญหาในที่สุดคงไม่พ้นการร่วมจ่าย แต่จะร่วมจ่ายอย่างไรนั้นคงต้องหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด

“การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลและบริการสุขภาพภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะนอกจากงบประมาณของระบบสุขภาพในปัจจุบันจะไม่เพียงพอแล้ว ประเทศไทยเองกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีวิธีเพิ่มรายได้ให้ประเทศได้อย่างไร ดังนั้นการบริหารจัดการโดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลด้วยสัดส่วนเท่าเดิมคงเป็นไปได้ยาก”

ในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ยังมีความเห็นมองเป็นภาระงบประมาณนั้น คิดว่าเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ หรือคนที่ไม่ได้สัมผัสว่าโครงการนี้ได้ช่วยคนในประเทศอย่างไรบ้าง ทำให้มองว่าเป็นภาระของประเทศ แต่ในฐานะหมอที่ดูแลคนไข้กลับมองว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ เป็นที่พึ่งและเป็นหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยทั้งชาติ

โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสที่เคยเข้าไม่ถึงการรักษาและยอมรอความตายอยู่กับบ้านเพราะไม่มีเงิน แต่ด้วยโครงการนี้ทำให้คนเหล่านี้มาโรงพยาบาลได้และได้รับการดูแลที่ดีตามมาตรฐาน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจะพูดแค่เรื่องของเงินคงไม่ได้ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและเป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รับ หากคนในประเทศมีสุขภาพที่ดี นั่นหมายถึงรายได้และผลผลิตของประเทศที่ดีก็จะตามมา

ส่วนรูปแบบการร่วมจ่ายที่เหมาะสม หากเป็นการร่วมจ่ายตอนป่วยเชื่อว่าหลายคนคงเกิดปัญหา เพราะประชาชนจำนวนมากแม้จะเป็นการร่วมจ่ายในอัตราไม่มากแต่ในช่วงเจ็บป่วยก็อาจไม่สามารถจ่ายได้ ดังนั้นควรเป็นการร่วมจ่ายก่อนป่วย โดยรัฐบาลอาจจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพให้กับประชาชน

เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเดิมทีกฏหมายบัญญัติไว้ที่ร้อยละ 10 แต่มีการลดหย่อนเรื่อยมาให้คงอยู่ที่ร้อยละ 7 หากจะเพิ่มมาอีกร้อยละ 0.5 หรือร้อยละ 1 ในส่วนของการบริโภคภายในประเทศ เพื่อเป็นเงินที่เอามาใช้กับการดูแลสุขภาพโดยตรง เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยินดีจ่าย โดยต้องชี้แจงให้เข้าใจถึงปัญหาขาดแคลนงบประมาณในระบบสุขภาพ และความจำเป็น
นอกจากนั้นการหารายได้เพิ่มจากภาษีสรรพสามิต หรือจัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพ หรือกองทุนเกษียณอายุ ให้ประชาชนจ่ายทุกเดือน และรัฐบาลช่วยสมทบ หรือการหารายได้เพิ่มด้วยวิธีอื่นๆ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ควบคู่ไปกับการควบคุมการเบิกจ่ายให้มีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น

จากการวิ่งมาราธอนของตูน บอดี้แสลมที่ทำให้ประชาชนสนใจต่อปัญหาขาดแคลนในระบบสุขภาพ มองว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการผลักดันมาตรการจัดเก็บภาษีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ยินดี เพราะก่อนหน้านี้แม้ว่าจะมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย แต่เป็นการคัดค้านการร่วมจ่ายตอนป่วยที่หน่วยบริการ โดยยอมรับว่าประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยพอที่รัฐบาลจะแบกรับค่าใช้จ่ายสุขภาพประชาชนทั้งหมดได้ ทั้งแนวโน้มนับวันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ การพัฒนาเกณฑ์การรักษาโรค ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้คิดว่ารายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นการมาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็น่าจะเพียงพอในการนำมาเป็นงบประมาณสำหรับดูแลสุขภาพประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตนเอง เปลี่ยนเป็นสร้างนำซ่อม จากที่มองหาการมีสุขภาพดีแบบสำเร็จรูป อย่างการกินวิตามิน เข้าคอร์สในโรงพยาบาลแพงๆ เป็นการเน้นออกกำลังกายและเลือกกินอาหารที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแทน เรียกว่าเป็นการต่อยอดจากกระแสการวิ่งของคุณตูน ซึ่งเชื่อว่าคนในประเทศจะมีความเห็นเป็นในแนวทางเดียวกัน

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า ท้ายนี้อยากฝากไปถึงผู้ดูแลระบบสุขภาพว่า การที่คุณตูนหาเงินเพื่อช่วยโรงพยาบาล 11 แห่ง ได้ตามเป้า 700 ล้านบาท ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งกระแสความสนใจของสังคมต่อปัญหาขาดแคลนงบประมาณในระบบสุขภาพ กระแสการวิ่งออกกำลังกายดูแลสุขภาพ และความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติ ซึ่งเงินมากแค่ไหนก็สร้างปรากฏการณ์นี้ได้ยาก เป็นโอกาสทองของรัฐในการรีบขับเคลื่อนมาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งถ้าหากทำในช่วงปกติจะมีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน จึงอยากให้ใช้โอกาสสำคัญนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด