ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.เดลินิวส์ : มหาวิทยาลัยนเรศวรพัฒนาโปรแกรมสำหรับคัดกรองโรคลิ้นหัวใจ เพื่อช่วยคัดกรองผู้ที่มีความผิดปกติทางหัวใจด้วยการฟังเสียง สะดวก รวดเร็ว แม่นยำ สามารถส่งต่อไปรักษายัง รพ.ที่มีแพทย์เฉพาะทางได้ทันท่วงที ได้รางวัลนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับเหรียญทองที่ไต้หวัน และเหรียญเงินที่เกาหลีใต้

นสพ.เดลินิวส์ : ผศ.ดร.สุวรรณา ถาวรรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก คณะสหเวชศาสตร์ และ รศ.ดร.ไพศาล มุณีสว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ได้ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมสำหรับคัดกรองโรคลิ้นหัวใจ เพื่อช่วยคัดกรองผู้ที่มีความผิดปกติทางหัวใจด้วยการฟังเสียง สามารถส่งรักษายังโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางได้ทันท่วงที

โปรแกรมสำหรับคัดกรองโรคลิ้นหัวใจ The program for screening the valvular heart diseases โปรแกรมที่ช่วยทำให้การวินิจฉัยด้วยการฟังเสียงหัวใจมีความถูกต้องมากขึ้น ซึ่งมีการพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณเสียง ที่สามารถกรองเสียงรบกวนและขยายสัญญาณจนได้ยินเสียงผิดปกติได้ชัดเจน แล้วส่งสัญญาณไปยังโปรแกรมที่เขียนขึ้นในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะแสดงผลให้ทราบว่าสัญญาณเสียงหัวใจนั้นเป็นเสียงปกติหรือผิดปกติได้ 

ผศ.ดร.สุวรรณา กล่าวว่า โรคลิ้นหัวใจ คือ โรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการไหลเวียนโลหิต เกิดปัญหาต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งในรายที่รุนแรงจะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบันการตรวจร่างกาย การฟังเสียงเต้นของหัวใจ การตรวจความดันโลหิต การจับชีพจร เอกซเรย์ภาพปอดและหัวใจ และวิธีตรวจหัวใจด้วยอัลตราซาวด์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งอาจมีการตรวจเฉพาะอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การสวนหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอ็มอาร์ไอ

การพัฒนาโปรแกรมสำหรับคัดกรองโรคลิ้นหัวใจนี้ จะช่วยในการวินิจฉัยด้วยการฟังเสียงหัวใจที่มีความถูกต้องมากขึ้นจะช่วยให้ผู้ที่มีความผิดปกติได้รับการคัดกรองแล้วส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลที่มีแพทย์ด้านโรคหัวใจ โดยผู้วินิจฉัยมีการพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณเสียงที่สามารถกรองเสียงรบกวนและขยายสัญญาณจนได้ยินเสียงผิดปกติได้ชัดเจนแล้วส่งสัญญาณไปยังโปรแกรมที่เขียนขึ้นในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะแสดงผลว่าสัญญาณเสียงหัวใจนั้นเป็นเสียงปกติหรือผิดปกติ

ล่าสุดผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษจากงาน 2015 Taipei international invention show and technomart ครั้งที่ 11 ประเทศไต้หวัน เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา และรับรางวัลเหรียญเงินและรางวัลพิเศษระดับเหรียญทองจาก Seoul international invention fair (SIIF) 2015 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถความชำนาญจนสามารถสร้างผลงานดี ๆ นี้ขึ้นมาเพื่อใช้ในวงการแพทย์ต่อไป.

ขอบคุณที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 ส.ค. 2559 (กรอบบ่าย)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง