ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2560 ภาพรวมเพิ่มขึ้น 1.61% ไม่รวมเงินเดือนภาครัฐที่เพิ่ม 0.37% เฉพาะงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่ม 2.67% ส่วนค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขย้ายไปตั้งที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.)

งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 ได้รับทั้งสิ้น 165,773.0144 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐ 42,307.234 ล้านบาท ดังนั้นคงเหลืองบกองทุนที่ส่งให้ สปสช. 123,465.7804 ล้านบาท สำหรับงบ 6 รายการคือ

1.บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 48.8029 ล้านคน 151,770.6746 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 80.93 ล้านบาท

2.บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 291,900 ราย 3,122.408 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 110.507 ล้านบาท

3.ค่าบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 52,911 ราย 7,529.2353 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 1,211.1363 ล้านบาท

4.บริการควบคุมป้องกันรักษาโรคเรื้อรัง รวมจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 2,822,600 ราย 960.409 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 1.409 ล้านบาท

5.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 173 แห่ง 1,490.2875 ล้านบาท

6.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 150,000 คน 900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 300 ล้านบาท

การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560 ที่ได้รับ 3,109.87 บาทต่อประชากร แบ่งเป็น 8 รายการดังนี้

1.บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป 1,137.58 บาท

2.บริการผู้ป่วยในทั่วไป 1,090.41 บาท

3.บริการกรณีเฉพาะ 315.14 บาท

4.บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 405.29 บาท

5.บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 16.13 บาท

6.บริการแพทย์แผนไทย 11.61 บาท

7.ค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน 128.69 บาท

8.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 5.02 บาท

ประเด็นหลักที่มีการปรับเปลี่ยนในปีนี้

1.งบผู้ป่วยนอก เดิมมีการกันงบส่วนหนึ่งเพื่อจัดสรรให้กับหน่วยบริการตามการให้บริการ เป็นการสนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูล แต่เพื่อให้งบส่งไปยังหน่วยบริการเพิ่มขึ้นและรวดเร็วขึ้น ในปีนี้จะโอนงบผู้ป่วยนอกทั้งหมดให้กับหน่วยบริการ และจะมีการปรับปรุงตัวชี้วัดอื่นเพื่อประเมินการบริการแทน พร้อมกันนี้ได้ปรับให้ใช้ข้อมูลประชากร ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นตัวแทนการจ่ายทั้งปี ซึ่งจะทำให้จำนวนงบประมาณที่หน่วยบริการได้รับมีความชัดเจนและได้รับงบประมาณอย่างรวดเร็วขึ้น

2.งบผู้ป่วยในทั่วไป ปรับการบริหารโดยจ่ายงบระดับเขตรายเดือนตามข้อมูลที่หน่วยบริการส่งมาแต่ละเดือน ซึ่งหน่วยบริการจะได้รับเงินตามที่เบิกจ่ายในเดือนนั้นไม่ต้องรอเหมือนในอดีต โดยจะมีการส่งข้อมูลกลับให้หน่วยบริการในแต่ละเขตได้รับทราบบริการที่เกิดขึ้นในเขตเพื่อให้หน่วยบริการประเมินคุณภาพของตนเอง

3.งบบริการกรณีเฉพาะ โดยปี 2560 ได้จำกัดวงเงินที่ชัดเจนไม่เกินร้อยละ 12 ของงบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อลดความกังวลของหน่วยบริการว่าจะมีการกันเงินที่ส่วนกลางมากไป โดยปีนี้ยังได้ลดการจัดสรรกองทุนเฉพาะในการดูแลเด็กแรกเกิด ให้กลับไปอยู่ในงบเหมาจ่ายตามปกติ 

4.ขณะที่การบริการผ่าตัดตาต้อกระจกพร้อมเลนส์แก้วตาเทียมให้กำหนดเป้าหมายบริการระดับเขต และเน้นการควบคุมคุณภาพโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ตาบอดจากต้อกระจก ขณะที่การบริการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน และการบริการผ่าตัดข้อเข่าเทียม จะเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยบริการทุกสังกัดในการจัดระบบลงทะเบียนรอการผ่าตัด โดยจ่ายให้หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนที่ได้คุณภาพที่เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ

5.งบบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หน่วยบริการสังกัด สป.สธ. ให้ใช้ประชากร ณ วันที่ 1 ก.ค. 2559 เป็นตัวแทนการจ่ายงบทั้งปี เช่นเดียวกับงบผู้ป่วยนอกเพื่อให้งบประมาณถึงหน่วยบริการรวดเร็วขึ้น

6.งบบริหารจัดการค่าบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. ให้มีการกันงบไว้ไม่เกิน 1,900 ล้านบาท เพื่อการปรับเกลี่ยงบระดับประเทศ เขต และจังหวัด นอกจากนี้ยังกันงบไว้ไม่เกิน 7,700 ล้านบาท สำหรับการปรับเกลี่ยเพิ่มงบเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่มีปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เสี่ยงภัย พื้นที่เป็นเกาะ และประชากรน้อย ซึ่งมีประมาณ 200 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหางบไม่เพียงพอ

งบการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ มีตัวชี้วัดกลางจำนวนไม่เกิน 10 ตัว และระดับเขตสามารถเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 5 ตัว

7.การจัดสรรงบตามคำสั่ง ม.44 ทั้งค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการ ซึ่งได้มีการกันเงินจำนวน 0.10 บาทต่อผู้มีสิทธิ ให้เป็นไปตามที่ รมว.สาธารณสุขประกาศโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังซึ่งจะทำให้ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดีขึ้น