ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการจวกธุรกิจเหล้านอก จัดกิจกรรมในโรงเรียนดัง หวังกล่อมเด็กให้เป็นพวก ชี้ปลูกฝังสร้างการจดจำด้านบวกน้ำเมา ด้าน “เครือข่ายผู้ปกครอง” จี้สถานศึกษาไม่ควรเปิดช่องร่วมมือบริษัทเหล้า  

นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว

นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะนักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จับมือกับ บริษัทดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าและจำหน่ายสุราต่างชาติรายใหญ่ในไทย จัดกิจกรรมโครงการวัยใสไกลแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างทัศนคติการดื่มให้เด็กเยาวชนในโรงเรียนกว่า 40 แห่ง ว่า การที่ผู้ใหญ่มองว่าธุรกิจนี้สามารถทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนได้ เพราะเป็นการช่วยเหลือสังคม เท่ากับไปรับรองว่าเป็นกิจกรรมที่ดีที่ควรเกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะงานวิจัยยืนยันชัดเจนว่า เท่ากับเป็นการสอดแทรกเนื้อหาปลูกฝังพื้นฐานเด็กเยาวชนให้เกิดความสนใจในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากที่เด็กไม่เคยรู้จัก ก็กลับทำให้ต้องรับรู้และอยากลอง โตขึ้นใครๆ ก็ดื่ม อีกทั้งไม่มีเหตุผลใดที่ธุรกิจนี้อยากจะลดยอดขายของตัวเองลง ไม่อยากได้กำไร จึงเป็นไปไม่ได้แน่นอนว่าไม่มีอะไรแอบแฝง

“กิจกรรมที่มาจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักจะทำการตลาดสร้างการจดจำ สนใจ รู้สึกดี สร้างการจงรักภักดีกับตัวผลิตภัณฑ์ กล่อมเด็กให้เป็นพวกเขา ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ไอร์แลนด์เขารู้เท่าทันธุรกิจนี้โดยมีหนังสือจากกระทรวงศึกษาไปยังโรงเรียนทุกแห่ง ให้ระมัดระวังกิจกรรมอะไรก็ตามที่มาจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเห็นบทเรียนและผลกระทบในประเทศอังกฤษมาแล้ว จึงแปลกใจว่าทำไมหน่วยงานบ้านเราถึงนิ่งนอนใจและไม่ทำอะไร ปล่อยกิจกรรมธุรกิจสุราให้เข้าหาเด็กเยาวชน หรือผู้ปกครองต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่ปกป้องลูกหลานแทน” นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวด้วยว่า ธุรกิจสุรา มักมาในรูปแบบ กีฬา ดนตรี ซึ่งเคยเข้ามาทำกิจกรรมกับเด็ก สุดท้ายทำให้เด็กเข้าใจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น และต่อไปเป็นห่วงว่า จะมีกิจกรรมแอบแฝงมาในรูปแบบอื่นๆมากขึ้น หากภาครัฐยังไม่ชัดเจนไม่กล้าห้ามปรามป้องกัน อีกทั้งต้องสื่อสารตรงไปยังโรงเรียนทั่วประเทศให้ระมัดระวัง เพราะผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งอุบัติเหตุ ความสูญเสีย มีให้เห็นทุกวัน

นายอิมรอน เชษฐวัฒน์ แกนนำเครือข่ายกลุ่มผู้ปกครอง กล่าวว่า ในมุมผู้ปกครองรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งที่รู้ว่าธุรกิจสุราเป็นธุรกิจบาปที่ต้องพึงระวังไม่ให้เข้าหาตัวเด็ก แต่แทนที่จะปกป้องกลับไปส่งเสริมให้มันเกิดขึ้นในโรงเรียน  ซึ่งมันส่งผลกับภาพลักษณ์ของกระทรวงศึกษาด้วย เนื่องจากธุรกิจนี้มีเจตนาแอบแฝง สร้างภาพลักษณ์ ทุกอย่างมันเป็นการตลาด และ 40 โรงเรียนที่จะเข้ามาจัดกิจกรรมคงเป็นโรงเรียนชื่อดัง ทุกอย่างมีการวางแผน มีเจตนาแอบแฝงแน่นอน ขอฝากให้กระทรวงศึกษาทบทวน ต้องทันเกมธุรกิจเหล้านอก อย่าไปก้มหัวให้ แต่ต้องป้องกันและระวังอย่างเข้มงวด

“ถ้าเราทำให้ยอมรับว่าสินค้ามอมเมาเหล้า บุหรี่ เป็นสินค้าปกติธรรมดา ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และคนที่ได้ประโยชน์จากมุมมองนี้คือฝ่ายธุรกิจ แน่นอนว่าในกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนตอนนี้เขาไม่ไปชวนให้ดื่ม เขาจะพูดถึงผลกระทบแต่ก็จะแทรกข้อดีผสมกันไป และสิ่งสำคัญทำให้เด็กมองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความเป็นผู้ใหญ่ โตขึ้นใครๆ ก็ดื่ม ตรงนี้คือจุดอันตราย เพราะนี่คือการปั้นนักดื่มในอนาคต สร้างฐานลูกค้าในอนาคต ที่ต้องเท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อ ท้ายที่สุดคนได้ประโยชน์ไม่ใช่นักเรียนหรือสถานศึกษา ในฐานะของคนที่เป็นพ่อมีลูกอยู่ในสถานศึกษา จึงไม่ต้องการให้กิจกรรมที่แอบแฝงเคลือบยาพิษแบบนี้เข้ามาในโรงเรียน” นายอิมรอน กล่าว