ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายวิชาการ แพทย์ เภสัช ผู้ป่วย เตือนภัยคนไทยยาที่มีพิษต่อตับ ทั้งยาพาราเซตามอลที่ใช้จนเคยชิน จนไม่ตระหนักใช้เกินขนาด ซ้ำร้ายยังพบฉลากยาเด็กไม่ชัดเจนสร้างความสับสน ส่งผลอันตรายต่อตับ ขณะที่คีโตโคนาโซลชนิดกินที่มีพิษต่อตับอย่างมาก บริษัทแม่สั่งหยุดจำหน่าย เรียกคืนสินค้า แต่ 89 บริษัทในไทยยังไม่หยุดผลิตแบบเม็ด จี้บริษัทยาเลิกผลิต คีโตโคนาโซลชนิดเม็ด ถอนทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญ

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559 ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการจากคณะเแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชมรมเภสัชชนบท คณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (สยส.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้ป่วยจัดแถลงข่าว “เตือนภัยยาที่มีพิษต่อตับ” 

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า โรคตับเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของคนไทย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้มีผู้ป่วยตับสูงขึ้น เนื่องมาจากการมีทะเบียบตำรับยาที่ไม่ปลอดภัย เช่นมียาสูตรผสมที่ไม่เหมาะสม ยามีขนาดแรงที่หลากหลายเกินไป ซึ่งพบเห็นได้ในกรณีของยาพาราเซตามอล ทั้งแบบเม็ดและเป็นน้ำที่ใช้กับเด็ก นอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มยาอันตรายอย่าง คีโตโคนาโซลชนิดกินที่ใช้ในการรักษาเชื้อราตามผิวหนังด้วย

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า พาราเซตามอลถือเป็นตัวยาดีที่สุดในปัจจุบัน แต่ที่เราต้องเตือนเพราะปัญหาพิษตับจากยาพาราเซตามอลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศเริ่มมีรณรงค์ มีการตื่นตัวเรื่องนี้ ล่าสุด แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออกกฎควบคุมการใช้ยาพาราเซตามอลมากขึ้น ขณะที่ไทยมีรายงานเรื่องตับในเด็กมากขึ้น อันเนื่องจากการรับยาเกินขนาดปีละกว่า 1,000 คน โดยในนั้นมีเด็กต่ำกว่า 6 ขวบ

"ส่วนคีโตโคนาโซลชนิดกินมีพิษต่อตับอย่างมาก และบริษัทแม่อย่าง เจนเซน (บริษัท Janssen Cilag ประเทศไทย) ได้ยื่นจดหมายเรียกเก็บสินค้าที่มีส่วนผสมของตัวยานี้คืนทั่วโลกรวมทั้งไทย พร้อมทั้งสั่งหยุดจำหน่าย แต่กลับปรากฏว่ามีบริษัทในไทยอีกราว 89 ที่ยังคงใช้ตัวยาชนิดนี้ในการผลิตแบบเม็ด ทั้งๆ ที่บริษัทต้นแบบเลิกผลิตแต่บริษัทไทยยังละเลย เรื่องล่วงกว่า 3 ปีแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวยังไม่รีบแก้ไข ทั้งๆ ที่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ"

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่อีกอย่างคือ ยาฝาแฝด ซึ่งยาพวกนี้มักเป็นพาราเซตามอลสำหรับเด็ก ที่มีรสชาติต่างๆ พ่อแม่หาซื้อง่าย แต่ไม่ค่อยดูขนาดของยา ดูแค่สีของกล่องทั้งๆ ที่ความแรงของยาแม้กล่องสีเดียวกันต่างด้วย เช่นความเข้มข้น 5cc (ช้อนชา) มีความเข้มข้นตั้งแต่ 120 มิลลิกรัม, 160 มิลลิกรัม และ 250 มิลลิกรัม หมายความว่าถ้าหากคุณซื้อให้ลูกเล็กอายุ 1 ขวบแต่ดันหยิบขนาด 160 หรือ 250 มิลลิกรัมได้ ลูกคุณก็จะได้รับตัวยาที่แรงเกินร่างกาย 

ด้าน ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า ปัญหาที่ประชาชนใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดจนเกิดอันตรายขึ้นนั้น สาเหตุหนึ่งคือความเข้าใจผิดในสูตรยา เนื่องจากปัจจุบันท้องตลาดมียาพาราเซตามอลหลายขนาด มิหนำซ้ำฉลากยังคล้ายกันมาก และพบว่าตัวหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษ ตัวเล็กมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนในชนบท ไม่สามารถคุ้มครองตัวเองให้ปลอดภัยจากการใช้ยาได้

นอกเหนือจากนั้น ยังพบประเด็นปัญหาของการไม่ทราบว่าในสูตรผสมของยาที่ใช้มีส่วนผสมของพาราเซตามอลด้วย เช่น กรณีได้รับยาคลายกล้ามเนื้อจากการสั่งใช้ของแพทย์แต่ตนเองไม่ทราบ เมื่อมีไข้เพิ่มเข้ามาหรืออาการปวดร่วมอยู่ด้วยจึงกินยาพาราเซตามอลเพิ่มเข้าไป ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ง่ายโดยการจำกัดขนาดความแรงของยาให้มีน้อย และการทำรูปลักษณ์ของยา รวมทั้งชื่อยาให้แตกต่างกัน

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล กล่าวว่า พาราเซตามอล (paracetamol) เป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่ปลอดภัยหากใช้อย่างถูกขนาดและถูกวิธี แต่เนื่องจากมีการใช้เกินขนาด และซ้ำซ้อนมาเป็นเวลานาน จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้ง กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งจัดการโดยเพิ่มมาตรการส่งเสริมให้ใช้พาราเซตามอลที่มีปริมาณยา 325 มิลลิกรัมทดแทนยาชนิด 500 มิลลิกรัม จำกัดขนาดยาสูงสุดต่อครั้งและต่อวันให้ต่ำลง ปรับปริมาณยาได้ไม่เกิน 325 มิลลิกรัมต่อเม็ดเมื่อเป็นยาผสม แจ้งเตือนด้วยข้อความให้ทราบว่ายาผสมนี้มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบด้วยภาษาไทย ยกเลิกยาชนิดหยดสำหรับเด็กทารกที่มีความเข้มข้นสูง แสดงขนาดยาในเด็กที่สอดคล้องกับน้ำหนักตัวแทนของเดิมที่ใช้หลักเกณฑ์อายุ

ด้าน รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรณียาคีโตโคนาโซล ชนิดรับประทานนั้น ขอเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย ถอนทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญโดยสมัครใจ ตามแบบอย่างของบริษัทต้นแบบในต่างประเทศซึ่งได้ขอยกเลิกทะเบียนตำรับยาไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสุขภาพของผู้บริโภคไทย โดยไม่ต้องรอขั้นตอนยกเลิกทะเบียนตำรับยาของคณะกรรมการอาหารและยา.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มติ คกก.ยาจำกัดข้อบ่งใช้คีโตโคนาโซลชนิดเม็ด พร้อมปรับปรุงคำเตือนใช้ยาพาราฯ